ยุทธศาสตร์ 20 ปี หลักการดีทำไมถูกค้าน

28 ก.พ. 2559 | 01:30 น.
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ถูกจัดให้มีขึ้นตาม ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยุทธศาสตร์ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย มาตรา 263 นั้น ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากฝ่ายการเมือง โดยพุ่งเป้าว่าเป็นช่องทางสืบทอดอำนาจแฝงของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เนื่องจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่จะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย 25 คน มีวาระ 8 ปี คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอายุตราบเท่าที่กฎหมายคงอยู่ และมีบทบาทวางกรอบพัฒนาประเทศยาวนานถึง 20 ปี

นอกจากประเด็นสืบทอดอำนาจแล้ว ฝ่ายการเมืองยังมองด้วยว่า บทบาทของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งตามร่างกฎหมายระบุไว้ว่า มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐ (ผู้ร่างอ้างว่าไม่ต้องการให้ถูกครอบงำจากการเมือง) ล้ำหน้ารัฐบาลที่จะมาหลังการเลือกตั้งในปี 2560 เปรียบเหมือนอำนาจใหม่ นอกเหนือจาก 3 อำนาจหลักตามระบอบประชาธิปไตยที่ทราบๆกัน ถัดมาคือหลายฝ่ายกังวลว่าการกำหนดแนวทางพัฒนาประเทศล่วงหน้าถึง 20 ปี จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศมากกว่าส่งเสริม เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก

คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ให้ความเห็นไว้น่าสนใจตอนหนึ่งว่า การมุ่งใช้ กลไกข้าราชการ (คณะกรรมการ ยุทธศาสตร์) มากำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินไม่น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง ส่วนประเด็นที่ย่อยลงมาอีก คือ ถ้ามี คณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์แล้ว บทบาทจะต่างจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ อย่างไร ?

วันก่อน "วันมาฆบูชา" พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯออกมาพูดเรื่องนี้โดยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯได้กล่าวทำนองว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาประเทศร่วมกันของรัฐบาล เอกชน และประชาชน ในแต่ละช่วงเวลาให้สามารถขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา โดยย้ำด้วยว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่จะทำให้คนในประเทศรู้ว่าจะเดินอย่างไร ไม่ใช่การบังคับว่าต้องทำอะไร " ส่วนแผนฯ 5 ปีของสภาพัฒน์กับนโยบายของรัฐบาลเป็นแผนปฏิบัติในรายละเอียด

สรุปตามคำแถลงของโฆษกประจำสำนักนายกฯข้างต้นได้ความว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็น กรอบใหญ่ ส่วนแผนฯ 5 ปีของสภาพัฒน์ และนโยบายของรัฐบาลในอนาคตเปรียบเหมือนแผนกลยุทธ์ในการนำไปสู่เป้าหมาย

การที่พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ประสงค์ให้มี ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นเข็มทิศให้ประเทศ โดยหลักการแล้วคงไม่มีใครค้าน ตรงกันข้ามกลับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น เพราะประเทศไทยที่ผ่านมาเคลื่อนตัวไปตามกระแสเศรษฐกิจโดยไม่มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไปว่าจะนำประเทศไปสู่จุดไหนเปรียบเหมือนเรือไม่มีหางเสือ แผนหลักของสภาพัฒน์เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆในนโยบายของรัฐบาลที่มามาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่น่าสงสัยว่า เมื่อหลักการถูกต้องแล้ว ทำไม นักการเมืองจึงมอง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เหมือนสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตย ?

คำถามข้างต้นสะท้อนมุมมองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอก (ยุทธศาสตร์ 20 ปี)เป็นกรอบกว้างๆ แต่อีกหลายฝ่ายกลับมองตรงกันข้าม แต่ข้อเท็จจริงจากรายละเอียดที่มีการเผยแพร่กันออกมา แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวผูกพันกับรัฐบาลไม่น้อยกว่า 5 รัฐบาล หนำซ้ำยังมีคณะกรรมการคอยตรวจการบ้านรัฐบาลในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้าอีกด้วย

พินิจจากมุมแย้งที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว โจทย์ของ คสช. และรัฐบาล ที่หวังให้ แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ได้รับการต้อนรับจากผู้มีส่วนได้เสียทางการเมืองมากขึ้นเพื่อผลักดันให้เป็นพิมพ์เขียวประเทศไทย คือปรับให้ยุทธศาสตร์ 20 ปีเป็น "กรอบกว้างๆ" อย่างที่อ้างอย่างแท้จริง และเปิดช่องว่างให้รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในอนาคต ได้ปรับแต่งแผนตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ขีดเส้นตายตัว เหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคบังคับเช่นนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559