เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าใช้งบแพงไปไหม

08 ต.ค. 2561 | 07:59 น.
เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า
ใช้งบประมาณแพงเกินไปไหม

 

ดร.สมชัย

(ดร.สมชัย จิตสุชน)

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่บทความในหัวข้อ “เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ใช้งบประมาณแพงเกินไปไหม?” มีเนื้อหาดังนี้

ในห้วงเวลากว่าปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยขยายความครอบคลุมของโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจากปัจจุบันที่ให้เฉพาะเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนให้เป็นแบบถ้วนหน้า คือ เด็กทุกคนที่อายุอยู่ในเกณฑ์จะได้รับเงินอุดหนุนหมดไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร โดยให้ถือว่าเป็นสิทธิ์ (right) ที่เด็กทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด ความพยายามนี้เผชิญกับข้อโต้แย้งที่สำคัญสองประการ

ประการแรก งบประมาณที่ต้องใช้ในกรณีให้แบบถ้วนหน้าจะสูงกว่ามาก ยิ่งหากมีการขยายอายุการได้สิทธิ์ไปจนถึง 6 ปี (จากปัจจุบัน 3 ปี) ตามดำริของนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว งบประมาณจะสูงกว่าปัจจุบัน 4-5 เท่าตัว คือ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านบาทหากดำเนินการถ้วนหน้า 0-6 ปีในทันที คือ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562

ประการที่สอง การให้เงินกับเด็กทุกคน หมายถึง การให้เงินกับลูกคนรวยหรือคนชั้นกลางด้วยทั้งที่เด็กเหล่านั้นมีพ่อแม่ที่ฐานะดีและไม่ขาดแคลนเงินทองดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ดังนั้น นอกจากจะเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุแล้วยังไม่น่าจะก่อให้เกิดผลดีใดๆ กับเด็กกลุ่มนั้นเนื่องจากเงินที่เพิ่มเพียง 600 บาทเป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับครอบครัวเหล่านั้นจะเป็นการดีกว่าถ้าคงระบบปัจจุบันที่ให้เงินเฉพาะเด็กในครอบครัวยากจนที่ขาดแคลนเงิน และถ้าไม่ต้องให้เงินกับลูกคนรวยก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาเพิ่มให้กับเด็กยากจนได้อีกด้วย

ตรรกะข้างต้นดูเหมือนเป็นสิ่งที่โต้แย้งได้ยาก เพราะเป็นการจัดสรรงบประมาณอย่างชาญฉลาด ไม่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และการมีเงินมาช่วยเหลือเด็กยากจนได้มากขึ้นย่อมเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวคือจากประสบการณ์การให้เงินอุดหนุนเด็กทั่วโลก พบว่า หากต้องมีกระบวนการคัดกรองว่าครอบครัวใดจน ครอบครัวใดไม่จน กระบวนการคัดกรองนั้นจะทำให้เด็กที่ไม่จนจริงได้รับสิทธิ์ แต่ที่สำคัญคือจะเกิดกรณี ‘เด็กยากจนตกหล่น’ คือเด็กในครอบครัวยากจนกลับถูกคัดออก โดยการตกหล่นนี้จะมีเสมอไม่ว่ากระบวนการคัดกรองจะออกแบบไว้ดีอย่างไร (ความจริงแล้วยิ่งการคัดกรองเข้มงวด คนจนตกหล่นก็ยิ่งมาก)

ในกรณีของไทย ผลการศึกษาพบว่าอัตราการตกหล่นอยู่ที่ร้อยละ 30 กล่าวคือ ในเด็กยากจนทุก 100 คน จะมีเด็กไม่ได้รับเงินอุดหนุน 30 คน และเพราะการมีเด็กยากจนตกหล่นภายใต้นโยบายที่ให้เงินอุดหนุนเฉพาะเด็กในครอบครัวยากจนนี่เองทำให้มี 32 ประเทศเลือกที่จะให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าเพราะเป็นเพียงวิธีเดียวที่แก้ปัญหาเด็กตกหล่นได้

ส่วนกรณีของไทยนั้นทราบว่ามีแนวคิดจะปรับเกณฑ์รายได้จากเดิม 36,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นเกณฑ์เดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคือ 100,000 บาทต่อคนต่อปีของคนอายุ 18 ปีขึ้นไป ด้วยความหวังว่าจะทำให้อัตราการตกหล่นลดลง ซึ่งจะใช้งบประมาณครึ่งหนึ่งของกรณีถ้วนหน้า แม้จะเป็นเจตนาที่ดีแต่การปรับเกณฑ์รายได้โดยไม่ทำให้ถ้วนหน้าหมายความว่าจะยังมีกระบวนการคัดกรองอยู่ จึงยังไม่แก้ปัญหาคนจนตกหล่นอยู่ดี

กลับมาคำถามว่างบประมาณที่ใช้กรณีถ้วนหน้าแพงไปหรือไม่ เราต้องจ่ายเงินมากขึ้นสองเท่าตัว (เทียบกับกรณีใช้เกณฑ์รายได้ 100,000 บาท) เพื่อขจัดอัตราการตกหล่นร้อยละ 30 เป็นสิ่งที่คุ้มค่าหรือไม่ เรื่องนี้แล้วแต่จุดยืนทางการเมืองและการให้น้ำหนักกับการตกหล่นของเด็กยากจน 30% ว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเพียงใด สำหรับผู้เขียนเห็นว่าคุ้มค่าเพราะไทยเป็นสังคมสูงอายุแล้ว และจำเป็นต้องมีการลงทุนในเด็กเล็กอย่างทั่วถึงเพื่อให้สามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพโดยไม่ตกหล่น

นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาวที่ได้ผลที่สุดด้วย ส่วนที่ว่าเด็กรวยไม่สมควรได้รับเงินนั้น เราสามารถมองว่าเป็นการคืนเงินภาษีให้เขา เพราะต้องยอมรับว่าอย่างไรเสียรายได้ภาษีของรัฐบาลก็มาจากกระเป๋าคนรวยมากกว่า (รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มก็มาจากกระเป๋าคนรวยไม่น้อยกว่า 70-80%) หากการคืนภาษีให้คนรวยในรูปของเงินอุดหนุนเด็กมีส่วนช่วยป้องกันการตกหล่นของเด็กยากจน ก็เป็นสิ่งที่สมควรทำมิใช่หรือ และอย่าลืมว่าจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จะทำให้งบประมาณส่วนนี้ลดลงและไม่เป็นภาระของประเทศแบบปลายเปิดแน่นอน

กล่าวโดยสรุป เป็นความจริงว่าการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้ามีต้นทุนงบประมาณสูงกว่า แต่งบส่วนนี้เป็นการใช้เพื่อสร้างอนาคตของชาติโดยไม่ตกหล่นเด็กยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นงบประมาณที่คุ้มค่ากว่าการใช้ในเรื่องอื่นอีกหลายประการ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว