กยศ.เปิดแผนตามหนี้ค้าง 2 ล้านราย รุกผ่านนายจ้าง-ใช้บริษัทตามหนี้

26 ก.พ. 2559 | 10:00 น.
กยศ. ปฏิบัติการรุกติดตามหนี้ค้าง 2 ล้านราย ล่าสุดดึงองค์กรนายจ้างเข้าร่วมหักเงินเดือนผู้กู้นำส่งกองทุนโดยตอบรับแล้ว 11 แห่ง -ว่าจ้าง 26 บริษัทตามหนี้ พร้อมปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เตือนผู้กู้ต้องแจ้งอัพเดตที่อยู่ เพราะหากติดต่อไม่ได้ ศาลฯสามารถพิพากษาฝ่ายเดียวได้

[caption id="attachment_33527" align="aligncenter" width="500"] จำนวนรายและมูลหนี้ที่ค้างชำระ กยศ. จำนวนรายและมูลหนี้ที่ค้างชำระ กยศ.[/caption]

ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนการติดตามหนี้ โดยตั้งเป้าที่จะได้รับชำระหนี้ในปี 2559 ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท ว่ากยศ.ได้จัดโครงการ "กยศ.-กรอ. เพื่อชาติ" โดยได้ร่วมกับองค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ให้หักเงินเดือนบุคลากรในสังกัดที่เป็นผู้กู้ส่งคืนกองทุน ซึ่งหลังจากที่ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในหนังสือ (MOU) โดยมีหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมกว่า 80 แห่ง ล่าสุดได้ตอบรับเข้ามาแล้ว 11 แห่ง

" 80 แห่งที่ว่าเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง 19 แห่ง, รัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคลัง 8 แห่ง ปัจจุบันตอบรับเข้ามาแล้ว 11 แห่ง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ และเอกชนประสานเข้ามาแล้วร่วม 100 แห่ง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดเดือนกันยายนปีนี้ ดังนั้นนายจ้างและลูกจ้างที่ประสงค์จะเข้าร่วมต้องตอบรับเข้ามาก่อน แต่ผลของการหักเงินเดือนจะไปเริ่มก็ในปี 2560"

ทั้งนี้ผู้กู้ที่ยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนนำส่งกองทุน จะได้รับรางวัลจูงใจจากกยศ. กล่าวคือ ในกรณีผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระโดยมีการชำระเป็นปกติ หากยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้ทุกเดือน จะได้รับเงินตอบแทนเป็นรางวัล 1% ของยอดเงินต้นคงเหลือในวันที่จ่ายเสร็จสิ้น, ส่วนผู้ที่ค้างชำระอยู่ต้องชำระงวดที่ค้างทั้งหมดให้เป็นปกติก่อน และที่เหลือเมื่อยอมให้นายจ้างหักเงินเดือน กยศ.จะลดเบี้ยปรับให้ 100% และในกรณีที่ปิดบัญชี ผู้กู้ปกติถ้าปิดบัญชีเลยจะได้รับเงินตอบแทนเป็นรางวัล 3% ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี ส่วนผู้ที่ค้างชำระหากปิดบัญชีเลย ก็จะได้ลดเบี้ยปรับ 100%

มาตรการติดตามหนี้ กยศ.ในปีนี้ยังได้ขยายช่องทางผ่านบริษัทติดตามหนี้จากเดิมที่ใช้อยู่ 16 รายมาเป็น 26 บริษัท รวมถึงการทำสัญญากรณีผู้กู้ใหม่ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ผู้กู้ต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูล ซึ่งกยศ.จะเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรในปี 2561

"สิ่งที่ทำให้กองทุนได้รับเงินชำระมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากบริษัทติดตามหนี้ โดยในปีแรกสามารถเรียกหนี้คืนได้ประมาณ 800 ล้านบาท และปีที่ 2 อีกกว่าพันล้านบาท"

กยศ.เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2539 ถึงปัจจุบันมียอดผู้กู้รวมสะสม 4.5 ล้านราย เป็นวงเงินราย 4 แสนล้านบาท และเป็นจำนวนรายที่ครบกำหนดชำระ 3 ล้านราย โดยเป็นผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระเลย 1 ล้านราย และผู้กู้ที่ค้างชำระมี 2 ล้านราย (ตารางประกอบ)ในจำนวนผู้กู้ที่ค้างชำระแยกเป็น ผู้กู้ที่ค้างชำระทั่วไป 1.1 ล้านราย, ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย 1 แสนราย และผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีมีประมาณ 8 แสนราย

ดังนั้นนโยบายของกยศ. จึงให้ความสำคัญกับผู้กู้กลุ่มทั่วไป 1.1 ล้านรายนี้ เพื่อจะหาทางป้องกันไม่ให้กลุ่มนี้ดำเนินไปสู่วันที่ถูกดำเนินคดี จึงได้เน้นโดยการใช้บริษัทติดตามหนี้ ตั้งแต่ที่ค้างงวดแรก ซึ่งได้ผลดีพอสมควร

ส่วนกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี ปัจจุบันกยศ.ได้ส่งเรื่องให้กับบริษัททนายเพื่อดำเนินการสืบทรัพย์กับผู้กู้รุ่นปี 2547,2548,2549 (เกณฑ์ครบกำหนดชำระของผู้กู้ :เมื่อจบการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว 2 ปีและหากค้างชำระเกิน 4ปี 5 งวด จะถูกฟ้องดำเนินคดี) จำนวน 5.1 หมื่นราย ในจำนวนนี้ถูกยึดทรัพย์แล้ว 3.8 พันราย

"ปัญหาที่ผู้กู้เดินไปสู่การที่เราต้องยึดทรัพย์เพราะผู้กู้ไม่อัพเดตที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อได้ โดยผู้กู้มักจะคิดว่าถ้ากองทุนไม่ทราบที่อยู่ก็จะได้ตามไม่เจอ แต่ความจริงแล้วแม้จะไม่มีที่อยู่ แต่ศาลฯสามารถพิพากษาฝ่ายเดียวได้ ดังนั้นผู้กู้ต้องให้ที่อยู่ที่ติดต่อได้เพื่อที่กองทุนจะได้เตือนแต่เนิ่นๆ"

อนึ่งนับตั้งแต่ปี 2556. 2557 และ2558 กยศ. ได้รับชำระหนี้คืนเป็นวงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท, 1.3 หมื่นล้านบาท และ 1.7 หมื่นล้านบาท ตามลำดับและในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่ 1.9 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559