ก.ล.ต. ลงโทษที่ปรึกษาทางการเงินและผู้ควบคุมการปฏิบัติงานที่ปรึกษาทางการเงิน

08 ต.ค. 2561 | 06:57 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ก.ล.ต. สั่งพักการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท เวลธิเอสท์ บีซีเอ จำกัด (เวลธิเอสท์ บีซีเอ) และการทำหน้าที่ผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของ นางสาวมารียา เพ็ญสุต เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากบกพร่องในการปฏิบัติงานที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัทแห่งหนึ่ง ในการยื่นคำขออนุญาตออกและเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก

ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า บริษัท เวลธิเอสท์ บีซีเอ จำกัด และนางสาวมารียา เพ็ญสุต มีข้อบกพร่องร้ายแรงในการปฏิบัติงานที่ปรึกษาทางการเงินในการยื่นคำขออนุญาตออกและเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก ของบริษัทแห่งหนึ่ง* ใน 2 เรื่อง ดังนี้ (1) บกพร่องในการตรวจสอบหรือสอบทาน (due diligence) ระบบควบคุมภายในและระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่ยื่นคำขอ IPO ทั้งที่มีข้อบ่งชี้ว่า ระบบดังกล่าวขาดความรอบคอบรัดกุมอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน และ (2) บกพร่องในการทำ due diligence ความเพียงพอของการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ทั้งที่มีข้อบ่งชี้ว่า ลูกหนี้หลายรายเริ่มมีปัญหาในการจ่ายชำระหนี้ และกระบวนการบังคับหลักประกันของลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้อาจใช้ระยะเวลานาน

ข้อบกพร่องข้างต้นของ บริษัท เวลธิเอสท์ บีซีเอ และนางสาวมารียา เป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ ตามประกาศ ก.ล.ต. ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เวลธิเอสท์ บีซีเอ และนางสาวมารียา ในฐานะผู้ควบคุมการปฏิบัติงานที่ปรึกษาทางการเงินตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่ยังเหลืออยู่ และกำหนดระยะเวลาไม่รับพิจารณาคำขอความเห็นชอบในครั้งต่อไป เมื่อพ้นระยะเวลาทั้งหมด 2 ปี นับแต่วันที่ 5 ต.ค. 2561

อนึ่ง ที่ปรึกษาทางการเงินมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของบริษัทที่จะยื่นคำขอ IPO และตรวจสอบว่า บริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. หรือไม่ รวมถึงต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่บริษัท เพื่อให้มีความพร้อมก่อนจะระดมทุนจากประชาชน ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลที่ปรึกษาทางการเงิน ก.ล.ต. จะให้ความสำคัญในการพิจารณาการทำ due diligence ว่า เป็นไปด้วยความรอบคอบระมัดระวังตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทที่ทำ IPO มีคุณสมบัติครบถ้วนและได้เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญโดยถูกต้องและครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนแล้ว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว