ดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์ ... ผลประโยชน์ทับซ้อน "ข้อตกลง" ที่ไม่ลงตัว

07 ต.ค. 2561 | 12:42 น.
071061-1907

... ยังหาข้อสรุปไม่ได้ สำหรับการตั้งตัวแทนคืนภาษี "แวต รีฟันด์ ในเมือง" ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะเป็นโครงการทดลองที่มีกรมสรรพากรเป็นผู้กำกับดูแล แต่ที่ต้องเกาะติด เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย

หลังการประกาศผลผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น ตัวแทนแวต รีฟันด์ ในเมือง ก็น่าจะแล้วเสร็จ พร้อมดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ในทุก ๆ ขั้นตอน เช่นเดียวกับการประมูล หรือ การทำ TOR อื่น ๆ

แต่ในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น มีข้อกังขา ข้อโต้แย้ง เกิดขึ้นถึงผลการสรรหา การพิจารณาคุณสมบัติมากมาย เมื่อผู้คว้าชัย คือ "เคาน์เตอร์เซอร์วิส"


327806

"เคาน์เตอร์เซอร์วิส"
ใคร ๆ ก็รู้ว่า เป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินสินค้าและบริการต่าง ๆ กว่า 100 ประเภท ตั้งแต่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ยันจองตั๋วรถทัวร์ เติมเงินเกม แต่ไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกับการรับคืนภาษี

"เคาน์เตอร์เซอร์วิส" จึงไม่ได้อยู่ใน List ของผู้ที่จะเข้าร่วมเสนอตัวเป็นผู้ให้บริการคืนแวต รีฟันด์ ในเมือง

แตกต่างจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 4 ราย ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล, เดอะ มอลล์, โรบินสัน และสยามพิวรรธน์ ซึ่งทุกรายล้วนเป็นที่รู้จักของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่รวมตัวกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุน "แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์)" ขึ้น เพื่อดำเนินการเรื่องคืนแวต รีฟันด์ ในเมือง โดยเฉพาะ

เรื่องชื่อ ชั้น ไม่หนีกันเท่าไรนัก ดูเหมือนฝั่งห้างค้าปลีกใหญ่จะมีภาษีกว่าด้วยซ้ำ

เพราะเมื่อ รมต.อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เจ้ากระทรวงการคลัง และ รมต.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายชนินทธ์ โทณวณิก หัวหน้าทีมภาคเอกชน ประจำคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านท่องเที่ยวและไมซ์ (D3) เห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรมีการตั้งจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต รีฟันด์ ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมือง เพื่ออำนวยความสะดวก จากเดิมที่ต้องขอคืนที่สนามบินเท่านั้น ทำให้เงินที่ได้รับจากการคืนแวตถูกนำกลับออกนอกประเทศ ไม่ได้ถูกใช้จ่ายและไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ แต่หากมีการให้คืนภาษีในเมืองได้ โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะนำเงินกลับมาใช้จ่ายซื้อสินค้าต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ จากการซื้อสินค้า การผลิตสินค้า และการจ้างงาน


327812

แนวคิดที่เกิดขึ้น แม้ยังไม่ตกผลึก แต่เมื่อมีการพูดคุยกับห้างค้าปลีก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยตรง จึงเป็นรูปเป็นร่างในต้นปี 2561 เพราะทุกฝ่ายมองว่า เป็นโครงการที่จะส่งผลดีต่อประเทศ จึงถูกสานต่ออย่างรวดเร็ว พร้อมกับการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อมาดำเนินการ โดยกรมสรรพากร ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ได้กำหนดให้เริ่มต้นเป็นโครงการทดลองในเดือนเมษายน และเตรียมพร้อม MOU แต่ทุกอย่างก็ต้องชะงักไป เมื่อกรมสรรพากรแจ้งเปลี่ยนแปลงกฏเกณฑ์


time line013_C

และเป็นที่มาของการเปิดให้เสนอตัวเป็นตัวแทนผู้ให้บริการคืนแวต รีฟันด์ ในเมือง และ "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" กลายเป็น "ตาอยู่" คว้าชัยไปครอง


327808

หลายคนสงสัยหรือไม่ว่า เพราะอะไร ทำไมใคร ๆ ถึงอยากจะเป็น "ตัวแทน" ครั้งนี้เหลือเกิน

ตามเงื่อนไขผู้เสนอตัว ต้องเป็นผู้ลงทุนพื้นที่ตั้งแซนด์บ็อกซ์ ระบบซอฟ์ทแวร์ รวมถึงเม็ดเงินที่ต้องสำรองจ่ายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปก่อน

มีแต่ควักจ่าย ควักจ่ายออกไปก่อน แต่ "รายได้" ที่เข้ามา ไม่เคยมีใครพูดถึง

เคาน์เตอร์เซอร์วิสมีรายได้จากค่าบริการรับชำระบิลต่าง ๆ ครั้งละ 10-15 บาทต่อบิล แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามายื่นขอคืนแวต รีฟันด์ ไม่เสียค่าเซอร์วิส แถมต้องสำรองเงินจ่ายออกไปก่อน กว่าจะได้คืนก็ต้องรอ 90-120 วัน ตามข้อตกลง

แวตที่นักท่องเที่ยวจะมาขอคืนได้จะต้องมียอดซื้อตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป จากร้านค้าที่จดทะเบียน Vat Refund for Tourists และต้องมีใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว หรือ ใบ ภ.พ.10 เพื่อให้นักท่องเที่ยวนำใบ ภ.พ.10 นี้ ไปขึ้นเงินกับตัวแทนคืนแวต รีฟันด์ ในเมือง คือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส นั่นเอง


Downtown Vat Refund for Tourists

แต่หลายคนอาจจะคิดว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่รวมอยู่ในสินค้า และเมื่อต้องคืนกลับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ต้องคืนกลับ 7% เช่นกัน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่

นักท่องเที่ยวจะได้รับเงินคืนแวต รีฟันด์ 4.2-6.4% หรือเฉลี่ย 5% ต่อใบ ภ.พ. 10 ส่วนต่างที่เหลือคือราว 2% จะเป็นรายได้ที่กรมสรรพากรตกลงส่วนแบ่งกับตัวแทน เช่น หากตัวแทนขอรับ 0.71% กรมสรรพากรก็จะได้รับ 1.29% ตัวเลขเหล่านี้เหมือนจะ Win–Win กันทุกฝ่าย (เพราะมีการเจรจาต่อรองกันแล้ว)


327816

แต่ดูเหมือน "ตาอยู่" จะมาแรงกว่า เมื่อข้อเสนอที่ให้ คือ ส่วนต่าง 2% ยกให้กับกรมสรรพากรทั้งหมดตลอดระยะเวลา 6 เดือน ช่วงที่มีการทดลองโครงการ

เรียกว่า "แรง" และ "คุ้มค่า" หากเป็นการหวังผลในระยะยาว เมื่อโครงการนี้ได้รับการสานต่อ "ตาอยู่" ก็จะเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ

งานนี้ได้ผลงานกันทั่ว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ตัวเลขนักท่องเที่ยว กระทรวงการคลังได้เงิน ประชารัฐ D3 ได้ชื่อ เคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ขาย

แต่ผลลัพธ์จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ จุดให้บริการสะดวกต่อนักท่องเที่ยวหรือไม่ เงินจะถูกนำกลับมาใช้จ่ายหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ และประเทศไทยจะกลายเป็นช็อปปิ้ง พาราไดซ์ ได้หรือไม่ ... 4 คำถามนี้ ใครจะเป็นผู้ตอบ?


……………….
รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวการตลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'เอกนิติ' มึนรายเดียว! คว้าคืนแวตในเมือง
ทุนค้าปลีกเปิดใจหลัง“พลาด”คว้าตัวแทนแวต รีฟันด์เตรียมยื่นอุทธรณ์สรรพากร


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว