คลังเร่งเบิกจ่ายงบปี 62! ตั้งแท่นรออนุมัติฉีดเงิน

05 ต.ค. 2561 | 08:29 น.
คลังซักซ้อมหนักหน่วยราชการเข้าใจตรงกันแล้ว ให้เตรียมการรอล่วงหน้า มั่นใจงบปี 2562 เข้าระบบได้ทันที คมนาคมได้รับจัดสรร 2 แสนล้านบาท เบิกแล้วรายจ่ายประจำ พร้อมเร่งจัดทำคิวโครงการใหญ่ ทางหลวงประกาศหาผู้รับจ้างแล้วกว่า 60%

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หน่วยงานราชการกังวลว่า จะทำผิดกฎเกณฑ์ใหม่ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ซึ่งกรมซักซ้อมตลอดมาหมดแล้ว คาดปีงบประมาณ 2562 (วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เริ่ม 1 ต.ค. 2561) จะเข้าใจมากขึ้น และปีนี้มีอีกตัวเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ คือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ที่อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากบังคับใช้จะทำให้หน่วยงานรัฐขอกันงบเหลื่อมปีไม่ได้ ถ้าไม่ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง จึงต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ

ด้าน นางญาณี แสงศรีจันทร์ โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและคล่องตัวขึ้น โดยได้ซักซ้อมและกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานรัฐเริ่มกระบวนการจัดหาพัสดุได้ ตั้งแต่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว

หากเป็นวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้เริ่มเมื่ออนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีรายหน่วยงานของรัฐเสร็จแล้ว ก่อนเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หากเป็นกรณีเงินงบประมาณที่ต้องดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย หน่วยงานของรัฐได้รับอนุมัติให้โอนหรือเปลี่ยนแปลง หรือ สำนักงบประมาณได้อนุมัติ แล้วแต่กรณี สามารถเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ และจะลงนามได้เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 มีผลใช้บังคับ และได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้วเท่านั้น

"หากหน่วยงานเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จะช่วยให้เบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปีนี้จะให้แต่ละหน่วยงานตั้งคณะทำงานดูแล ติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินและแจ้งปัญหาอุปสรรค เพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที เพื่อให้เม็ดเงินเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยได้"

ด้าน กระทรวงคมนาคมที่ได้รับจัดสรรงบรายจ่ายปี 2562 กว่า 2 แสนล้านบาท นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รักษาการปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า พร้อมเบิกจ่ายนับตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณรายจ่ายปี 2562 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นี้เป็นต้นไป โดยทยอยเบิกจ่ายงบค่าใช้จ่ายประจำที่ได้เตรียมการล่วงหน้าไว้แล้ว

ในส่วนโครงการขนาดใหญ่ได้สั่งให้แต่ละหน่วย รายงานว่า เตรียมการกันไปถึงไหน อย่างไร อาทิ เรื่องการร่างเอกสารประกวดราคา การเตรียมประกาศทีโออาร์ ซึ่งนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการไปเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนเป้าหมายคงต้องรับฟังจากฟากรัฐบาลสั่งการ คาดว่าจะประกาศในเร็ว ๆ นี้

"ส่วนงบปี 2561 ยังมีค้างบางส่วน แต่ใช้วิธีกันเงินงบประมาณไว้สำรองจ่ายข้ามปี อาทิ โครงการที่เปิดประมูลไปแล้ว มีผู้ยื่นราคารายเดียว ก็จะต้องยกเลิก และประกาศให้ยื่นใหม่จนกว่าจะได้ตัวผู้รับจ้าง ส่วนงบปี 2562 ได้สั่งการให้จัดทำแผนรายไตรมาส เพื่อให้กระชับในการพิจารณา และมีคณะกรรมการติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณคอยติดตามอย่างต่อเนื่อง"

ด้าน นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปี 2562 ของ ทล. ได้รับจัดสรรงบกว่า 1.17 แสนล้านบาท เบื้องต้น ได้ประกาศหาตัวผู้รับจ้างไปเป็นจำนวนมากแล้ว งานโครงการขนาดใหญ่ประกาศหาตัวผู้รับจ้างได้มากกว่า 60% คาดว่าจะทันตามกรอบที่รัฐบาลกำหนดไว้

"งบค้างท่อปี 2561 ยังมีค้างการเบิกจ่ายในโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบเวนคืนที่เพิ่มมากอีกประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท"

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบปี 2562 คืบหน้าแล้วกว่า 40% โครงการขนาดใหญ่ราว 20 โครงการ จากในภาพรวมมีประมาณ 4,000 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการเร่งรัดจัดซื้อจัดจ้างในปี 2562 ภายใต้งบประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท

"ยังคงดำเนินการไปตามแผน แต่ละหน่วยทยอยแจ้งผลกลับมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนงบปี 2561 ยังมีค้างท่อเพียงเล็กน้อยที่เป็นงบผูกพัน ปี 2561 เบิกจ่ายไปได้แล้วประมาณ 89.75% ส่วนที่เหลือจัดเป็นงบเหลื่อมข้ามปีไปดำเนินการ หน่วยงานที่มีงบลงทุนจำนวนมาก ทช. ยังสามารถดำเนินการได้ในระดับต้น ๆ ตามแผนของรัฐบาล"

สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ภาพรวมสามารถเบิกจ่ายได้ 2.66 ล้านล้านบาท คิดเป็น 92% ของวงเงินงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 2.6% โดยรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 373,034 ล้านบาท คิดเป็น 56.5% ของวงเงินงบประมาณ 659,781 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 9.4% ส่วนงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว 215,098 ล้านบาท คิดเป็น 66.4% ของวงเงิน 323,948 ล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,406 วันที่ 4 - 6 ต.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ญี่ปุ่นปรับ ค.ร.ม. ทาโร่ อาโสะ ยังรั้งตำแหน่ง รมว.คลัง
คลังโบ้ยสาธารณสุขชงปรับราคาบุหรี่ดึงเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพ


เพิ่มเพื่อน
595959859