ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง

23 ก.พ. 2559 | 09:35 น.
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า   เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558/2559 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญมีปริมาตรต่ำอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาความเป็นอยู่ รายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสภาวะสังคม ในการนี้ กระทรวงการคลังจึงได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วนและระยะกลาง

ดังนั้น คณะรัฐมนตรี(ครม.)ในคราวการประชุม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร ที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วนที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ รายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสภาวะสังคม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตรของประเทศและจะเป็นการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและภัยธรรมชาติอื่น ๆ ในระยะกลาง โดยมีรายละเอียดโครงการ ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558/2559 วงเงินรวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อไม่เกิน 12,000 บาทต่อราย กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0 ต่อปี ในระยะเวลา 6 เดือนแรก และตั้งแต่เดือนที่ 7 - 12 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สำหรับเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส. ที่ปัจจุบันมีวงเงินกู้ต่อรายรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีอยู่จำนวน 500,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้หรือผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้มีรายได้ลดลงกว่าร้อยละ 50 จากรายได้ปกติ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมทั้งก่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและช่วยป้องกันการก่อหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร

2. โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 72,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ภาคการเกษตร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายคน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือบริษัทชุมชน จำนวน 7,200 ราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน (ประมาณการจ้างงานได้ 5 - 30 คนต่อกิจการ) โดย ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี และปีที่ 8 - 10 อัตราดอกเบี้ยปกติตามชั้นลูกค้า วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

3. โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจและตั้งใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างแท้จริงและผ่านการคัดเลือกจากชุมชน (ชุมชน ได้แก่ กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส. กลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด) ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานให้กับเกษตรกร โดยกำหนดวงเงินกู้กลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน