ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่ง...ดันเงินเฟ้อปีหน้าเพิ่มอีก 0.7% - 1.1%

06 ต.ค. 2561 | 01:07 น.
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่ง...ดันเงินเฟ้อปีหน้าเพิ่มอีก 0.7% - 1.1% ขึ้นกับนโยบายภาครัฐในการดูแลราคาพลังงาน

• ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดโลกมีโอกาสแตะ 90-100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล จากอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันที่มากขึ้นในช่วงฤดูหนาว
• ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ยังจำกัด แม้ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี อาจจะสูงกว่าที่ประเมินไว้บ้าง แต่มาตรการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐจะช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกลง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมุมมองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 1.1 และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 4.6

• การพิจารณาดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานของภาครัฐขึ้นกับการประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงว่าจะยืดเยื้อนานเพียงใด โดยเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างภาระผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น กับฐานะเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

• ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยที่ 85 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.7-1.1 ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐในการตรึงราคาพลังงาน และเมื่อรวมผลกระทบจากดุลการค้าที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อ GDP ที่ร้อยละ 0.2-0.4

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสแตะ 90-100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล จากอุปทานตึงตัว

นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเร่งตัวขึ้นสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยืนเหนือระดับ 85 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ทำให้มีความกังวลว่าราคาน้ำมันดิบจะกลับเข้าไปสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งการเร่งตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกหลายประการ ทั้งกำลังการผลิตในเวเนซุเอลลาที่หายไปจากปัญหาเศรษฐกิจภายใน มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจากสหรัฐฯ ที่จะมีผลวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกหายไปราว 1.5-1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ยังเผชิญข้อจำกัดทางด้านท่อลำเลียงขนส่งน้ำมันออกจากแหล่งผลิต ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2562-2563 จึงทำให้สหรัฐฯ ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบในปริมาณมากออกสู่ตลาดในระยะอันสั้นนี้ได้

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ยังจำกัด ในขณะที่ผลกระทบในปีหน้ายังขึ้นอยู่กับการประเมินราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการตัดสินใจดำเนินนโยบายตรึงราคาพลังงาน

• ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เร่งตัวสูงขึ้นคาดว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 อย่างจำกัด ทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบจะมีโอกาสเข้าใกล้ระดับ 85 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ที่มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เร่งตัวขึ้นกว่าที่ประเมินไว้บ้าง แต่จากมาตรการของภาครัฐในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม LPG ไปจนถึงสิ้นปี 2561 จะช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกลง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมุมมองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 1.1 (ช่วงประมาณการร้อยละ 0.8-1.3) ในขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 (ช่วงประมาณการร้อยละ 4.3-4.8)

• การพิจารณาดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานของภาครัฐขึ้นกับการประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงว่าจะยืดเยื้อนานเพียงใด โดยจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาระผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น กับฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีความไม่แน่นอนจากความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตหลัก ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่กำหนดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงจะยืดเยื้อนานเพียงใด ในกรณีที่ประเมินว่าระดับราคาน้ำมันที่สูงเป็นผลระยะสั้น การดำเนินนโยบายตรึงราคาพลังงานผ่านการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อช่วยลดผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อผู้ใช้พลังงานอาจจะทำได้ หากเงินกองทุนฯ มีเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูงนานกว่าที่ประเมิน จะส่งผลกระทบต่อฐานะเงินกองทุนน้ำมันให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างผลบวกในระยะสั้นและผลกระทบในระยะยาว

• ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยที่ 85 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.7-1.1 ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐในการตรึงราคาพลังงาน และผลกระทบต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 0.2-0.4

 ในกรณีที่ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปีหน้าอยู่ที่ 85 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล คิดเป็นการเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับกรณีฐานที่ให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2562 อยู่ที่ 75 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ การส่งผ่านผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมายังตะกร้าเงินเฟ้อขึ้นอยู่กับนโยบายการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐ ในกรณีที่มีการตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และก๊าซ LPG ไว้ที่ 363 บาทต่อถัง จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.7 ส่วนในกรณีที่มีการทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซล และก๊าซ LPG ให้สะท้อนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของเงินเฟ้อในปีหน้า นอกจากเรื่องราคาน้ำมันที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อแล้ว ยังต้องติดตามเรื่องภาวะภัยแล้งที่อาจจะมาเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะมีผลต่อราคาพืชผลเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลต่อเงินเฟ้อในปีหน้าอีกทางหนึ่ง

 โดยรวมแล้ว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 0.2-0.4 ผ่านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และดุลการค้าของไทยที่ลดลง ทั้งนี้ ดุลการค้าที่ลดลงมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่านำเข้าสุทธิน้ำมันของไทย (มูลค่านำเข้าน้ำมันดิบหักออกด้วยมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป) แต่ในขณะเดียวกัน มูลค่าการส่งออกในสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 090861-1927-9-335x503-8-335x503-14