3 ปี "GDP เอสเอ็มอี" ต้องโตไม่น้อยกว่า 50%

08 ต.ค. 2561 | 05:33 น.
เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับพรรค "พลังประชารัฐ" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และพอจะคาดเดาได้ว่า ใครจะเกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจ แม้จะยังไม่ออกมาประกาศวางตัวชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ "ดร.เอก" ณพพงศ์ ธีระวร 1 ใน 25 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่ยอมถอดสูตจากบทบาทประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผันตัวเองเข้าสู่เส้นทางการเมืองชัดเจนแล้ว ฟังกันชัด ๆ แบบคำต่อคำ ถึงเหตุผลทั้งหมดผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ"


สาเหตุเข้าสู่เส้นทาง "การเมือง"
"ณพพงศ์" ให้เหตุผลถึงสาเหตุที่อุทิศตัวเข้าสู่งานทางการเมือง
ว่า ในเบื้องต้น มีผู้ใหญ่ของพรรค (พรรคพลังประชารัฐ) เช่น อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรค ชวนให้เข้ามาสู่เส้นทางการเมือง โดยทั้ง 2 ท่าน ให้เหตุผลว่า เห็นถึงความมุ่งมั่นในความสามารถช่วยเหลือคนตัวเล็กอย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาต่อเนื่อง และโดยส่วนตัวก็มีความตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเอสเอ็มอีอยู่แล้ว โดยอาศัยประสบการณ์จากการทำงานในภาคเอกชนด้านเศรษฐกิจมานานถึง 15 ปี


600

ตามบทบาทและประสบการณ์ นับตั้งแต่ที่นั่งเป็นประธานสมาพันธ์ส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย จ.สงขลา , ประธานหอการค้า จ.ยะลา และเป็นประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน , กรรมการหอการค้าไทย รวมถึงประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และอีกหลายตำแหน่งหลายบทบาทนั้น ส่วนใหญ่ล้วนผ่านประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับผู้ประกอบการ ได้มองเห็นช่องว่างของนโยบายจากภาครัฐที่ส่งต่อมาถึงเอสเอ็มอี ที่ยังลงมาไม่ถึงคนตัวเล็กแบบครอบคลุม เมื่อมองเห็นข้อจำกัดต่าง ๆ และมองเห็นช่องทางปรับแก้ จึงตัดสินใจรับอาสาเข้ามาทำงานการเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยคิดจะเดินเข้าสู่เส้นทางนี้เลย


คิดทำคุณประโยชน์อะไรให้กับประเทศ
เมื่อเข้ามาสู่บทบาททางการเมืองเต็มตัว ได้วางแนวทางไว้ 3 ส่วนหลัก ตั้งแต่ 1.จะต่อเชื่อมช่องว่างระหว่างนโยบายรัฐ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่ยังเป็นปัญหาที่คนตัวเล็กเข้าไม่ถึง 2.จะเข้ามาปลดล็อกข้อจำกัดในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในส่วนที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เช่น คนที่มีประวัติในเครดิตบูโรที่ไม่ดี และต้องรีบเข้าไปปลดล็อก เมื่อเอสเอ็มอีตกหลุมปัญหา ด้วยความเป็นภาครัฐก็ต้องลงไปช่วยเหลือก่อน 3.จะมุ่งมั่นผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนตัวเล็ก ซึ่งในส่วนนี้ขอเก็บไว้ก่อน ยังไม่พร้อมเผยแพร่ตอนนี้

แนวทาง 3 ส่วนหลักที่กล่าวมา จะช่วยคนตัวเล็กได้มากขึ้น และมองว่า เป็นฐานรากของเศรษฐกิจที่สำคัญและภาครัฐจะต้องวางนโยบายอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมสนับสนุน "ซึ่งผมมองว่า ในประเทศที่เจริญแล้ว เอสเอ็มอีจะเป็นกลไกหลักในการช่วยปลุกเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคการผลิตส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 80-90%"


ใน 3 ปี "จีดีพีเอสเอ็มอี" ต้องเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้มองเห็นว่า การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีดีขึ้นในหลายด้าน โดยจะเห็นว่าจีดีพีของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 42% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ที่เหลือเป็นจีดีพีของคนตัวใหญ่ หรือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ สัดส่วน 58% ดังนั้น ภายใน 3 ปีนับจากนี้ไป เราจะต้องผลักดันให้จีดีพีเอสเอ็มอีเติบโตไม่น้อยกว่า 50% โดยจะดึงแนวทาง 3 ส่วนหลักข้างต้นมาใช้ โดยเข้าไปผลักดันนโยบายที่ตรงเป้ามากขึ้น


17379958_ml

มีใครเป็นแรงบันดาลใจ
เมื่อถามว่า มีใครเป็นแรงบันดาลใจในการเข้าสู่เส้นทางการเมือง ได้รับคำตอบชัดเจนว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ "ท่านเป็นคนเก่งและก้าวทันโลก นำทิศทางหลักของประเทศมาประยุกต์ใช้ ที่สำคัญเป็นทั้งคนเก่งและคนดี"

ส่วนอยากให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นในชั่วโมงนี้ก็ต้องให้นายอุตตม ในฐานะหัวหน้าพรรค และมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้กับประเทศ "โดยส่วนตัวผม ศรัทธาในการทำงานแบบมุ่งมั่น จริงจัง มีความตั้งใจจริงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มองเห็นมาตลอด จึงเป็นเหตุผลหนึ่งด้วยที่ตัดสินใจมาร่วมงานในพรรคพลังประชารัฐ"


อยากเห็นประเทศเป็นแบบไหน
สำหรับสิ่งที่ "ณพพงศ์" อยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทยก่อน คือ อยากเห็นประเทศเป็นสังคมแห่งความสุข มีความเห็นอกเห็นใจกันและกัน และกลับมาเป็นสยามเมืองยิ้มแบบในอดีต โดยมองว่า วันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่ถ้าสังคมแตกแยกก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร โดยมองว่า ความสุขของคนในชาติจะต้องมาก่อน ฉะนั้นสิ่งแรก เรื่องปัญหาปากท้องจะต้องได้รับการแก้ไขก่อนลำดับแรก ๆ


จุดบอดปัญหาการเมือง
ส่วนในแง่จุดบอดปัญหาการเมืองวันนี้ ยังมองว่า ยังเกิดความแตกแยกอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความกังวลที่จะนำเอาความรู้ ความสามารถ มาสู่เส้นทางการเมือง เพราะยังแบ่งเป็นฝ่ายอย่างเอาเป็นเอาตายเกิดขึ้นอยู่ ส่วนจุดเด่นทางการเมืองในรอบ 5 ปี สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การเมืองเกิดความสงบมากขึ้น และพื้นฐานเศรษฐกิจมีความแข็งแรงมากขึ้น ส่วนนี้ถือเป็นข้อดี


ขั้นตอนจากนี้ไปพรรคต้องทำอะไร
"ณพพงศ์" ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงรวบรวมเอกสาร ยื่นจดทะเบียนรอตั้งพรรคพลังประชารัฐ น่าจะตั้งได้ภายในเดือน พ.ย. นี้ หลังจากนั้นหัวหน้าพรรคจะเชิญประชุมถึงแนวทางของพรรค ว่า จะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อสังคมและต่อเศรษฐกิจได้บ้าง ซึ่งสมาชิกแต่ละคนยังไม่รู้ว่าจะต้องรับผิดชอบงานด้านไหนบ้าง และสำหรับส่วนตัว ความตั้งใจที่อยากทำ คือ งานด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะงานส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอีและเรื่องความเหลื่อมลํ้าของรายได้ โดยรวม ๆ คือ เรื่องของปากท้องที่ต้องดูแลและได้รับการแก้ไขก่อน


โดย : งามตา สืบเชื้อวงค์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ วงศ์ปรากฏ

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3407 วันที่ 7-10 ตุลาคม 2561



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว