'นกสกู๊ต' เพิ่มทุนพันล้าน! ขยายฝูงบิน 19 ลำ เปิด 25 รูตบิน ภายในปี 63

07 ต.ค. 2561 | 10:33 น.
'นกสกู๊ต' รุกเพิ่มทุน 1 พันล้านบาท ขยายธุรกิจโลว์คอสต์ลองฮอลล์เต็มสูบ เป้าปี 63 หวังรายได้ 2 หมื่นล้านบาท มั่นใจการลงทุนที่เกิดขึ้นช่วยสร้างโอกาสให้นกแอร์พลิกฟื้นสร้างผลกำไรยั่งยืน พร้อมชู 3 แนวทาง ลดต้นทุนบริหารงานควบคู่กันไป

หลังจากผู้ถือหุ้นของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (NOK) มีมติเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561 เห็นชอบการลงทุนเพิ่มเติมอีก 490 ล้านบาท ในสายการบินนกสกู๊ต ผ่านบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ซึ่งนกแอร์ถือหุ้นอยู่ ตามเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนที่ได้ลงนามไว้กับ บริษัท Scoot Pte. Ltd. ของสิงคโปร์ ที่บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด จะเพิ่มทุนอีก 1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุน

โดยการลงทุนเพิ่มเติมที่เกิดขึ้น ทางบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินได้ให้ความเห็นต่อแผนการเพิ่มทุนของนกสกู๊ต ว่า จะช่วยสร้างโอกาสให้กับนกแอร์ในการขยายธุรกิจการบินราคาประหยัดมากขึ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนรอบการบินและขยายเส้นทางการให้บริการ ซึ่งเป็นการสร้างเส้นทางที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Connectivity) ทำให้สามารถขยายต้นทางและปลายทางให้กับนกแอร์ได้

ทั้งยังส่งผลให้นกสกู๊ตขยายส่วนแบ่งการตลาดการให้บริการเส้นทางการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเพิ่มทุนสำเร็จ และดำเนินการปรับเพิ่มจำนวนฝูงบินและปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารตามแผนงาน นกสกู๊ตจะมีโอกาสที่จะพลิกฟื้นผลการดำเนินงานให้กลับมาเป็นบวกและมีโอกาสขยายการเติบโตของรายได้และสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืน


MP22-3407-A

นายประเวช องอาจสิทธิกุล ประธานกรรมการบริหารและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ขั้นตอนต่อไปจะดูว่านกสกู๊ตมีแผนจะใช้เงินเมื่อไร เพื่อนำไปลงทุนขยายฝูงบินเพิ่ม โดยนกสกู๊ตจะเพิ่มทุนอีก 1 พันล้านบาท ซึ่งอาจจะเพิ่มครั้งละ 50% หรือเต็มจำนวน

ทั้งนี้ ตามแผนนกสกู๊ตจะเพิ่มทุนจาก 2,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินเพิ่มทุนไปใช้ในการเช่าเครื่องบินเพิ่ม ซึ่งปัจจุบัน นกสกู๊ตมีเครื่องบินอยู่ 10 ลำ จะเช่าเพิ่มเป็น 19 ลำ ภายในปี 2563 เพื่อให้สามารถเพิ่มเส้นทางบินใหม่ได้ 25 เส้นทางบิน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและทำให้สถานะการเงินดีขึ้น ซึ่งตามแผนนกสกู๊ตคาดว่าจะทำรายได้ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 และกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 และคาดว่าจะมีกำไร 100 ล้านบาทในปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านบาท ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน นกสกู๊ตให้บริการเที่ยวบินระยะกลางถึงระยะไกล จากสนามบินดอนเมืองไปยังเส้นทางในต่างประเทศ ด้วยเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 777-200 ให้บริการเที่ยวบินไปยังเมืองนานกิง ชิงเต่า เทียนจิน เสิ่นหยาง ซีอาน และหังโจว ประเทศจีน เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน สนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และกำลังจะเพิ่มเส้นทางบินสู่เมืองโอซากา เริ่มบินในวันที่ 28 ต.ค. นี้

ส่วนการเพิ่มทุนนกแอร์จะพิจารณาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งมีรายได้จากการขายตั๋วโดยสารราว 30-40 ล้านบาทต่อวัน ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือในราว 900-1,200 ล้านบาท เข้ามา แต่ก็มีค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งหากมีเพียงพอก็จะใช้เงินดังกล่าวในการลงทุนเป็นอันดับแรก ถ้าพอก็ไม่จำเป็นต้องกู้ใคร

อีกทั้งขณะนี้กำลังเร่งหาซีอีโอนกแอร์คนใหม่ เพื่อเข้ามาสานงานต่อ ซึ่งกลยุทธ์ยังเดินหน้าตามแผนฟื้นธุรกิจ ยึดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ลดการขาดทุน 2.สร้างความมั่นคง สร้างรายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่าย 3.สร้างการเติบโต สร้างรากฐานให้มั่นคง ส่วนจะเป็นเมื่อไรนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเต็มที่

ขณะเดียวกัน ได้เร่งลดต้นทุนในการบริหารงานควบคู่กันไป เน้นใน 3 ส่วนใหญ่ เรื่องที่ 1 คือ การบริหารจัดการการใช้ฝูงบิน จะมีการปรับโครงสร้างโมเดลการใช้เครื่องบิน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 แบบ 26 ลำ กำลังศึกษาว่าจะลดเหลือ 2 แบบ หรือยังคง 3 แบบเหมือนเดิม โดยจะดูถึงเรื่องการใช้นักบิน ช่าง การซ่อมบำรุงและอะไหล่

เรื่องที่ 2 การบริหารจัดการด้านบริการภาคพื้น ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาว่า จะลดได้อย่างไร หลังจากเครื่องบินจอด การจัดรถรับส่งผู้โดยสารลูกเรือ

เรื่องที่ 3 การซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งกำลังศึกษาว่าจะร่วมมือกับสกู๊ตของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส และนกแอร์ ในการจอยต์เวนเจอร์ ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องดังกล่าวร่วมกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการยกระดับฝ่ายช่าง ในการฝึกอบรมให้เป็นอินเนอร์มากขึ้น จากการส่งไปอบรมร่วมกับ 2 สายการบินดังกล่าว

"ทั้ง 3 เรื่อง คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา เป้าหมาย 3-4 เดือน น่าจะพอรู้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร มีทางเลือกอะไรบ้าง ส่งให้ผู้บริหารระดับสูงได้ตัดสินใจ เพราะค่าใช้จ่ายจากทั้ง 3 เรื่องหลักนั้น ถือว่ามีสัดส่วนสูง รวมกับค่านํ้ามันแล้วสูงในราว 70% ของต้นทุนในการดำเนินการทั้งหมด"

ส่วนปัจจัยเสี่ยงราคานํ้ามัน ทัวร์จีนที่ลดลงจากผลกระทบเรือล่มที่ภูเก็ต ได้แก้เกมส์โดยปรับแผนการบินเส้นทางเฉิงตู-ภูเก็ตจากเช่าเหมาลำ มาเป็นบล็อกซีต คือ ขายที่นั่งล่วงหน้า 90% ให้เอเยนต์ที่เหลือ 10% เราขายได้ รวมถึงเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังอินเดียอีก 2 เส้นทาง ช่วงปลายปี เน้นบินเมืองรอง


โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3407 ระหว่างวันที่ 7 - 10 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว