'ทีโอที' ตั้งป้อมเปิดศึก 'ทรู' !! อุทธรณ์ค่าเสียหายเน็ตเร็วสูง 9.4 หมื่นล้าน

07 ต.ค. 2561 | 11:24 น.
"ทีโอที" เตรียมพร้อมเปิดศึก "ทรู" กรณีข้อพิพาทคดี ADSL หลังอนุญาโตมีคำสั่งให้ชดเชยค่าเสียหายมูลค่า 9.4 หมื่นล้าน มั่นใจชนะแน่! ด้าน "ทรู" กำลังดำเนินการอุทธรณ์ แจงปล่อยให้เป็นกระบวนการพิจารณาของศาลถูกต้องที่สุดแล้ว

แหล่งข่าวจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ขณะนี้ ทีโอทีกำลังรอหนังสือจากอนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อย ที่มีความเห็นแย้งเกี่ยวกับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมาก ที่ตัดสินให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม : บริษัท เทเลคอมเอเซียคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) ชดเชยค่าเสียหายจากการให้บริการอินเตอร์เน็ต ADSL ให้กับทีโอที เป็นมูลค่า 9.4 หมื่นล้านบาท โดยทางคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อยจะส่งเรื่องกลับมายังสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะทนายความหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และส่งเรื่องต่อกลับมาให้ผู้ร้อง (บมจ.ทีโอที) และผู้คัดค้าน (บมจ.ทรู)

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าดังกล่าว ทีโอทียังไม่ได้รับเอกสารแต่อย่างใด เพราะตามกฎระเบียบหลังอนุญาโตตุลาการชี้ขาด เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา สามารถดำเนินการคัดค้านได้ภายใน 2 เดือน หลังจากมีคำสั่งจากศาลปกครองกลางตัดสิน

"ทีโอทีเตรียมความพร้อมทุกด้าน มั่นใจว่าจะชนะ เพราะผู้ถูกฟ้องผิดอย่างแน่นอน แต่ค่าเสียหายจะเท่าไหร่เป็นอีกเรื่อง" แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปหลังมีคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ว่า ทีโอทีจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อไป ทั้งนี้ หากทรูยื่นคำฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง ทีโอทีก็พร้อมต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยพร้อมยินยอมให้ดำเนินคดีอย่างเปิดเผยเพื่อให้สื่อมวลชนได้ตรวจสอบความโปร่งใส


mp20-3407-1

ด้าน แหล่งข่าวจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นปล่อยไปตามกระบวนการศาลปกครอง เชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีสุด และขั้นตอนหลังจากนี้ คือ การอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

สำหรับข้อพิพาทระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย เกิดขึ้นเมื่อ บมจ.ทีโอที ในฐานะผู้เรียกร้อง ตรวจพบว่า ผู้คัดค้าน (บมจ.ทรู) ได้นำอุปกรณ์ในระบบและยินยอมให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Asymmetric Digital Subscriber Line) (ADSL) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เรียกร้อง เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาพิพาท ทีโอทีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบว่า ผู้คัดค้านไม่สามารถให้บริการหรือยินยอมนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการ ADSL ได้ และขอให้ทรูปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาพิพาทและข้อตกลงแนบท้ายสัญญา และขอให้มาทำความตกลงเกี่ยวกับรายได้หรือผลประโยชน์ ปรากฏตามสำเนาหนังสือที่ ทศท ปป./281 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2549 เอกสารท้ายคำเสนอข้อพิพาทหมายเลข 19 แต่ทรูเพิกเฉย

สุดท้ายจึงเป็นประเด็นที่ ทีโอทียื่นหนังสือต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้พิจารณาและตัดสินข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้วินิจฉัยและชี้ขาด ดังนี้ คือ ให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าผิดสัญญาที่นำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2544 ถึง ส.ค. 2558 เป็นเงินจำนวน 59,120,650,573 บาท และดอกเบี้ย 16,978,659,753.09 บาท ทั้ง 2 จำนวน รวมเป็นเงิน 76,099,310,326.09 บาท พร้อมดอกเบี้ย 6.6875% ต่อปี จากเงินต้น 59,120,650,573 บาท ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2558 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ ให้ทรูชำระค่าผิดสัญญาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 ถึงเดือน ธ.ค. 2560 เป็นเงินจำนวน 17,076,923,346 บาท และดอกเบี้ย 1,298,048,850.31 บาทรวมเป็นเงิน 18,374,972,196.31 บาท พร้อมดอกเบี้ย 6.6875% ต่อปี จากเงินต้น 17,076,923,346 บาท ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 จนกว่าชำระเงินเสร็จสิ้น

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,407 ระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว