เรียนรู้จากยุโรป:ดูงานยานยนต์สมัยใหม่และระบบขนส่งอัจฉริยะ (2)

08 ต.ค. 2561 | 11:34 น.
ทรานส์เดฟ กรุ๊ป (Transdev Group) แห่งเมืองรูอ็อง (Rouen) ประเทศฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน และระบบยานยนต์ไร้คนขับ (autonomous mobility) เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนต่างชาติที่มาเข้าร่วมซื้อซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของไทยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีกำหนดยื่นซองประมูลในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

แม้ว่าในวันที่คณะของเราไปเยือนสำนักงานใหญ่ของทรานส์เดฟครั้งนี้ (25 ก.ย. 61) บริษัทจะยังไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นข้อเสนอการประมูลได้เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนสำคัญที่มีผลต่อการแข่งขัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการขนส่งและยานยนต์แห่งอนาคตรายนี้ก็คือ นี่คือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประสานงานขั้นเทพ และเอาต์ซอร์ซความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างยอดเยี่ยมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของโครงการที่บริษัททำอยู่ และนี่ก็เป็นหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่สำคัญคือ หากบริษัทไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีที่ต้องการ ก็สามารถจับมือเจ้าของเทคโนโลยีมาเป็นพันธมิตรร่วมโครงการ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการจำเพาะของโครงการนั้นๆ

[caption id="attachment_328388" align="aligncenter" width="503"] ยานยนต์ไร้คนขับของบริษัท Keolis วิ่งรับส่งนักท่องเที่ยวฟรีในโครงการ Lyon Confluence เมืองลียง ฝรั่งเศส รถทำความเร็วได้ราว 45 กม./ชม. และมีพนักงานควบคุมนั่งประจำการ ยานยนต์ไร้คนขับของบริษัท Keolis วิ่งรับส่งนักท่องเที่ยวฟรีในโครงการ Lyon Confluence เมืองลียง ฝรั่งเศส รถทำความเร็วได้ราว 45 กม./ชม. และมีพนักงานควบคุมนั่งประจำการ[/caption]

ยกตัวอย่างการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยยานยนต์ไร้คนขับของทรานส์เดฟในเมืองรูอ็องภายใต้ชื่อโครงการ TEOR HQSB เป็นรถโดยสารประจำทางขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 2 (Level 2) ที่ยังมีพนักงานนั่งประจำการในตำแหน่งคนขับ คอยดูแลให้รถขับเคลื่อนภายใต้ระบบอัตโนมัติและจะเข้าแทรกแซงเมื่อรถทำงานผิดปกติ โครงการนี้ในระยะเริ่มต้นทรานส์เดฟประสานความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากหลายฝ่ายด้วยกันเช่น บริษัท ซีเมนส์ จากเยอรมนี และบริษัท ไอริสบัสฯ (Irisbus ปัจจุบันบริหารงานภายใต้ชื่อ Iveco) ผู้ผลิตรถโดยสารจากอิตาลี เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการรถแท็กซี่ส่วนบุคคลแบบไร้คนขับซึ่งทรานส์เดฟให้บริการอยู่ 4 คันในเขตเมืองรูอ็อง ยังเป็นความร่วมมือกับบริษัท เรโนลต์ฯ ผู้ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรุ่น Zoe ที่นำมาใช้เพื่อโครงการนี้ และยังไม่รวมถึงบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวเนื่องในสหรัฐอเมริกา

เฟรเดอริค แซฟฟรอย ผู้ประสานงานโครงการยานยนต์อัตโนมัติของทรานส์เดฟ เปิดเผยว่า นอกจากเทคโนโลยีด้านยานยนต์แล้ว ทรานส์เดฟยังใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่และการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ คำนวณและจัดระบบการขนส่งที่เหมาะสมกับแต่ละเส้นทางในแต่ละช่วงเวลา  การเลือกขนาดของรถ (จำนวนบรรทุกผู้โดยสาร) การเลือกใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ และยานยนต์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการการทำงานของพนักงานขับรถ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ “ถ้าคนขับรถมีความสุข มันก็จะสะท้อนออกมาเป็นบริการที่ดีที่ทำให้ผู้ใช้บริการมีความสุข” ดังนั้นแอพพลิเคชันสำหรับพนักงานขับรถทุกคนของบริษัทจึงตอบโจทย์มอบความสะดวกสบายและช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นคนขับสามารถรับรู้สภาพการจราจร สภาพเส้นทางในแต่ละวัน รวมทั้งข่าวสารทันเหตุการณ์ เช่น การปิดถนนซ่อมแซม การแจ้งข่าวสวัสดิการ การแจ้งวันลา (ยกตัวอย่างเช่นกรณีลางานไปร่วมการชุมนุมประท้วงต้องแจ้งบริษัทล่วงหน้า 2 วันผ่านระบบ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถจัดหาคนขับทดแทนในวันนั้นๆได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ เป็นต้น)

สำหรับเมืองรูอ็องนั้น มีประชากรประมาณ 500,000 คน เป็นเมืองมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาราว 44,000 คน ทรานส์เดฟให้บริการจัดการระบบขนส่งสาธารณะโดยมีรถโดยสารประจำทาง 222 คัน รถ TEOR 67 คัน รถรางไฟฟ้า 27 คัน รถไฟใต้ดิน 2 สาย และรถแท็กซี่ไร้คนขับ 4 คัน บริการผู้โดยสารรวมทั้งสิ้นเฉลี่ย 213,800 เที่ยว/วัน หรือ 50 ล้านเที่ยว/ปี  ล่าสุดในปีที่ผ่านมา (2560) เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ทรานส์ เดฟยังพัฒนาระบบซื้อตั๋วโดยสารผ่านบริการ SMS ทางโทรศัพท์มือถือ ทำให้การใช้บริการมีความสะดวกรวดเร็ว มีการซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าผ่านระบบนี้มากกว่า 300,000 ใบในปีที่ผ่านมา และมีการซื้อเฉลี่ยวันละ 1,000 ใบในปัจจุบัน

รายงานชุดนี้ มี 3 ตอนจบ เป็นมุมมองของสื่อมวลชนในโครงการศึกษาดูงานด้านยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ ที่ประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 23-30 กันยายน 2561 จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
10-3406-1 อ่าน |
เรียนรู้จากยุโรป : ดูงานยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ตอน 1) 


..............................................................................................

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,407 ระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว