รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน! บทบาท WTO และผลกระทบ ศก.ไทย

06 ต.ค. 2561 | 04:45 น.
ในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ และจีน เป็นที่จับตามากที่สุดในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น บทความนี้จะหยิบยกประเด็นสำคัญมาพิจารณา ดังต่อไปนี้

1.เกิดปัญหาอะไรขึ้นจึงก่อให้เกิดสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ 2.ทั้ง 2 ประเทศนี้ ใช้มาตรการอะไรมาทำลายล้างเศรษฐกิจของกันและกัน 3.ในฐานะที่ทั้ง 2 ประเทศนี้ เป็นภาคีสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) การดำเนินมาตรการโจมตีทางการค้าดังกล่าวนั้น ชอบด้วยหลักของกฎหมายการค้าระหว่างประเทศหรือไม่

4.WTO เข้ามามีบทบาทอย่างไรได้บ้างในสงครามการค้าครั้งนี้ และสุดท้าย ... ประเทศไทยได้รับผลกระทบอะไรบ้างและควรแก้ไขปัญหาอย่างไร เมื่อสงครามนี้ดูท่าทีที่จะบานปลายและไม่น่าที่จะจบลงง่าย ๆ

นับตั้งแต่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงต้นปี ค.ศ. 2018 สหรัฐอเมริกามีท่าทีต่อการที่จีนไม่แก้ไขปัญหาเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในส่วนของลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้ากับสินค้าของอเมริกา ประกอบกับ ต้องการจะคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงได้ประกาศให้มีการขึ้นภาษีศุลกากรขาเข้า (Tariff) ในอัตรา 25% กับสินค้าที่มาจากจีนประมาณ 800 รายการ เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาลจีน โดยทางจีนเลือกที่จะใช้วิธีการตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีกับสินค้าที่มาจากสหรัฐ อเมริกาเช่นกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นับแต่เปิดศึกทางการค้า ทั้ง 2 ประเทศ เลือกที่จะใช้วิธีการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าเป็นมาตรการหลักในการทำลายเศรษฐกิจของกันและกัน

ในฐานะที่ทั้ง 2 ประเทศ ต่างเป็นภาคีสมาชิกของ WTO ที่มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ นอกจากที่จะเป็นเวทีทางการค้าระหว่างประเทศที่มุ่งหมายเพื่อจะก่อให้เกิดเสรีในทางการค้า (Free Trade) และความเป็นธรรมในทางการค้า (Fair Trade) ยังทำหน้าที่เป็นเวทีในการระงับข้อพิพาทในทางการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย ในประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า การก่อตั้ง WTO ที่เปลี่ยนมาจาก GATT (General Agreement on Trade and Tariff) ในปี ค.ศ. 1995 นั้น มุ่งเน้นที่จะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการกำจัดปัญหาเรื่องการตั้งกำแพงภาษีศุลกากรและปัญหาการจำกัดการนำเข้า (โควตา)


TP7-3407-A

ดังนั้น การที่สหรัฐฯ กำหนดตั้งภาษีกับสินค้าที่มาจากจีน จึงถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อวัตถุประสงค์และหลักการพื้นฐาน (General Principle) ขององค์การการค้าโลก แม้ว่าอเมริกาจะอ้างว่า ทำไปเพื่อเป็นการกดดันให้จีนรีบดำเนินการกับปัญหาเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อสินค้าของสหรัฐฯ ก็ดูจะเป็นการดำเนินการที่ผิดช่องทาง เพราะการละเมิดดังกล่าวควรเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทของคณะกรรมการระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO

นอกจากนี้ ในส่วนที่สหรัฐฯ อ้างว่า การตั้งกำแพงภาษีเป็นไปเพื่อการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศนั้น ก็เป็นกรณีที่ไม่สามารถหยิบยกขึ้นอ้างได้ภายใต้หลักเสรีทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะหากประเทศต่าง ๆ สามารถหยิบยกเหตุผลดังกล่าวขึ้นเพื่อตั้งกำแพงภาษี หรือ กำหนดมาตรการอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศได้ การที่จะเกิดเสรีทางการค้าสมกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งองค์การการค้าโลก ย่อมต้องสิ้นสุดลง

จริงๆ แล้ว ปัญหาในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2003 ที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กำหนดโควตา โดยจำกัดการนำเข้าสินค้าเหล็กจากประเทศจีน โดยจีนในฐานะประเทศสมาชิกของ WTO ที่ได้รับผลกระทบต่อมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ได้ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวย่อมผูกพันให้ประเทศสมาชิกที่เป็นคู่พิพาทจำต้องปฏิบัติตาม เพราะหากไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีการกำหนดมาตรการควํ่าบาตรทางการค้ากับประเทศที่ฝ่าฝืนต่อไป

แม้คณะกรรมการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสงครามการค้าในครั้งนี้ได้ แต่จะเห็นได้ว่า จีนเลือกที่จะใช้วิธีการตอบโต้โดยการขึ้นกำแพงภาษีกับสินค้าที่มาจากสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเสนอปัญหานี้ต่อ WTO เพราะในทางปฏิบัตินั้น ระยะเวลาในการระงับข้อพิพาทใช้เวลาเกินกว่า 18 เดือน

หรือในบางกรณี เช่น ข้อพิพาทที่เคยเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ เช่น กรณีเครื่องบินโบอิ้ง ใช้เวลาร่วม 10 ปี เพราะฉะนั้นดูแล้วปัญหานี้น่าจะไม่สามารถยุติได้ในเร็ววัน และมีแนวโน้มที่อาจรุนแรงขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาแถลงว่า สหรัฐอเมริกาอาจต้องทบทวนเรื่องการถอนตัวจากการเป็นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การการค้าโลก ในประเด็นนี้ดูเหมือนกับสหรัฐอเมริกาจะยอมรับกลาย ๆ ว่า การดำเนินการในสงครามการค้าครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อหลักการสำคัญของ WTO จึงจะพิจารณาเรื่องการถอนตัวจากการเป็นสมาชิก

เรื่องนี้ออกจะเป็นเรื่องช็อกวงการไม่น้อย เพราะจากเดิมที่สหรัฐอเมริกาเล่นบทเป็นผู้คุมกฎ เพื่อให้เกิดระบบการค้าเสรีและเป็นธรรม ปัจจุบัน บทบาทนี้ดูเหมือนจะถูกย้ายไปอยู่ในมือของประธานาธิบดีจีนซะแล้ว และหากสหรัฐอเมริกามี การประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของ WTO จริง อาจเป็นโดมิโนตัวแรกที่ล้ม แล้วจะส่งผลกระทบต่อหลักการในเรื่องการค้าเสรีและทำให้โฉมหน้าการค้าระหว่างประเทศนั้นเปลี่ยนแปลงไป

หากปัญหานี้ยังไม่จบลง หรือ อาจบานปลายอย่างที่กล่าว แน่นอนว่า ย่อมต้องกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตและส่งออกจากทั้ง 2 ประเทศ ที่มีราคาสูงขึ้นอันเนื่องมาจากผลของการตั้งกำแพงภาษี ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศ ใช้ทางแก้โดยเลือกที่จะไปผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นที่มีสินค้าในลักษณะเดียวกันกับสินค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษี

ดูเหมือนส้มก็จะหล่นสู่ประเทศคู่ค้าใหม่เหล่านั้น เนื่องจากมูลค่าการค้าขายสินค้าระหว่างกันของประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 นี้ มีอัตราลดลงกว่า 5 ล้านล้านบาท ได้ไหลสู่ประเทศคู่ค้าใหม่นั่นเอง

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยต้องการจะบรรเทาปัญหาที่เป็นผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้ ก็คงจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ การหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่ามาทดแทน


……………….
คอลัมน์ : รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมอาญาระหว่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,407 วันที่ 7 - 10 ต.ค. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เกาหลีหนีสงครามการค้า ยึดไทย-อาเซียนฐานผลิตใหม่
สงครามการค้าทําหยวนอ่อนค่า แนวโน้มถึงระดับตํ่าสุดปีหน้า

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว