ฝ่ามรสุมกองทุนรวม 3 ปัจจัยท้าทาย ‘ภาษีตราสารหนี้-กบช.-เปิดซื้อขายตรง’

08 ต.ค. 2561 | 11:22 น.
ปีนี้นับเป็นปีท้าทาย สำหรับธุรกิจจัดการกองทุนรวม จากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การยุติมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนและเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น Emerging Markets ทำให้เป็นแรงกดดันต่อการออกกองทุนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นหรือตราสารหนี้

“ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร” หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บางกอกแคปปิตอล จำกัด(BCAP)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมกองทุนช่วงนี้ ในมุมมองของผมภายใน 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จากปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เรื่องแรกคือ การจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีผลปฏิบัติ เพราะเพิ่งผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังต้องผ่านทั้งกฤษฎีกา กรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เร็วสุดน่าจะเป็นกลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้การออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นการทดแทนเงินฝาก จะไม่ใช่โฟกัสของกองทุนต่อไป เพราะขณะนี้สินทรัพย์ที่บริหารเกือบทั้งหมดของกองทุนอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ทดแทนเงินฝาก ซึ่ง BCAP เองไม่คิดที่จะทำ เพราะมองว่า เป็นเงินฝาก แค่เอาหลุมโพรงทางภาษีมาสร้างผลิตภัณฑ์ทดแทนเงินฝากเท่านั้น ในที่สุดธนาคารก็จะดึงกลับไป

[caption id="attachment_328526" align="aligncenter" width="335"] ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร[/caption]

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่ เงินก็ไม่หายไปไหน เพราะจะคิดตอนที่สิทธิประโยชน์หายไป ซึ่งเท่าที่ดูก็พอทราบว่า ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไปประหยัดภาษีได้ ตราบใดที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก เชื่อว่าเงินจะไม่ไหลกลับไปที่แบงก์ทั้งหมด นักลงทุนอาจจะยอมรับกำไรน้อยลง ดอกเบี้ยน้อยลง แต่มีความยืดหยุ่นมากกว่าเงินฝาก กองทุนขายทุกวัน เพราะถ้าดอกเบี้ยใกล้เคียงกัน เงินฝากต้องเป็นฝากประจำ ดังนั้นประโยชน์หลายๆ อย่าง ความสะดวก ความง่าย ก็อาจจะทำให้อุตสาหกรรมพอไปได้ อยู่ที่ค่าธรรมเนียมแค่ไหนมากกว่า

อีกเรื่องคือการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)ซึ่งเงินก้อนใหญ่ในอุตสาหกรรมยังอยู่กับการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะนี้กบช.ก็ยังไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าเงินจะไปอยู่ในมือไม่กี่เจ้า ที่ได้รับคัดเลือก แต่แนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำอยู่ตอนนี้มีผลกระทบอย่างแน่นอนในแง่ลบ เพราะเงินที่จะเข้ามาจากแรงงานใหม่จะไปอยู่ที่กบช.ทั้งหมด เพราะเป็นภาคบังคับ และเชื่อว่าภายใน 10 ปี กบช.จะใหญ่กว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)มาก และการให้บลจ.เพียง 3 รายบริหารจะมีความผันผวนด้านสินทรัพย์มาก เพราะประมูลทุก 2 ปี หากประมูลไม่ได้สินทรัพย์หายไปทันที ซึ่งธุรกิจครึ่งหนึ่งของเราเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือว่าอ่อนไหว ต้องหาทางออก แต่รอกฎให้ชัดเจนก่อน

090861-1927-9-335x503-3

และสุดท้ายคือ การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปิดเสรีผลิตภัณฑ์กองทุน ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายได้โดยตรง กองทุนที่เคยอยู่บน Feeder Fund คือกองทุนที่ตั้งเพื่อไปลงทุนในกองทุนหลักแห่งเดียวในต่างประเทศไม่สามารถอยู่ได้ เพราะนักลงทุนสามารถซื้อได้โดยตรง และตลาดหลักทรัพย์พัฒนาระบบ FundConnext ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายผ่านระบบกลางสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวม จะทำให้ใครก็สามารถเข้ามาซื้อขายได้

สัมภาษณ์ : โต๊ะข่าวกองทุน

 

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,407 ระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว