"เตาปูน-บางซ่อน”ย่านที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ของกทม.

23 ก.พ. 2559 | 08:10 น.
 

ไนท์แฟรงค์ประเทศไทยเผย "เตาปูน-บางซ่อน” จะเพิ่มความสำคัญและโอกาสในการเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่สำคัญแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก"บางซื่อ” ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเตาปูน-บางซ่อนจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและระบบขนส่งทางราง และศูนย์ธุรกิจแห่งใหม่ของประเทศและกรุงเทพมหานคร ขณะที่ตลาดการพัฒนาคอนโดมิเนียมในย่านเตาปูน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่โดยรอบสถานีบางซื่อนั้นเติบโตขึ้น ทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และราคาขาย

นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บางซื่อกำลังจะได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและระบบขนส่งทางรางของประเทศและกรุงเทพฯ ตามแผนพัฒนาของรัฐบาลโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งจะใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นที่ตั้งของสถานีต้นทางของระบบรางของการรถไฟฯ อันประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ (ไปยังเชียงใหม่) โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หัวหิน โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge รางขนาด 1.435 เมตร) สายกรุงเทพ-หนองคาย รถไฟขนาดราง 1 เมตร (Meter Gauge) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังบริเวณต่างๆ ของประเทศ ทั้งสายเหนือ สายอีสาน และสายใต้ นอกจากนี้ สถานีกลางบางซื่อจะยังเป็นศูนย์รวมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครอีกหลายเส้นทางอีกด้วย

การรถไฟฯ ยังอยู่ในระหว่างการวางแผนพัฒนาที่ดินบริเวณโดยรอบสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงธุรกิจถึง 305.5 ไร่ โดยย่านธุรกิจแห่งใหม่นี้จะประกอบด้วย 4 โซน ได้แก่ โซน เอ ขนาดที่ดินประมาณ 35 ไร่ ซึ่งมีแผนการพัฒนาเป็น“ศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร” โดยจะเป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงานที่ทันสมัย โรงแรม และศูนย์อาหารสำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ โซน บี ขนาดที่ดินประมาณ 78 ไร่ จะพัฒนาเป็น “ย่านพาณิชยกรรมแห่งใหม่” แหล่งค้าปลีก-ค้าส่งระดับอาเซียน โซน ซี ขนาดที่ดินประมาณ 105 ไร่ จะกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำงาน และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และโซน ดี ขนาดที่ดินประมาณ 87.5 ไร่ จะพัฒนาเป็น “จุดเปลี่ยนถ่ายและศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง” ทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนระบบหลัก ทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT มายังสถานีกลางบางซื่อและพื้นที่พัฒนาโซนเอ บี ซี อีกด้วย

ในด้านตลาดคอนโดมิเนียมบริเวณเตาปูน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีบางซื่อดังต่อไปนี้ คือ ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ประชาราษฎร์สาย 2 ถนนประชาชื่น ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี จากซอย 1-39 และ 2-50  มีจำนวนอุปทานทั้งสิ้นประมาณ 10,878 หน่วย โดยการพัฒนาคอนโดมิเนียมบริเวณนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2554 โดยในปีดังกล่าวมีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายประมาณ 803 หน่วย และต่อมาปี 2555 มีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายในบริเวณนี้อีก 1,257 หน่วยจาก 3 โครงการ ส่วนปี 2556 มีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,781 หน่วย และปี 2557 พบว่ามีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่สูงที่สุด คือ ประมาณ 5,037 หน่วย

นายพนม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของอุปสงค์คอนโดมิเนียมบริเวณนี้ค่อนข้างดี โดยมีจำนวนหน่วยที่ขายไปได้แล้วถึง 8,768 หน่วย จากที่เปิดขายถึง 10,878 หน่วย คิดเป็นอัตราการขายที่ร้อยละ 80.6  มีจำนวนหน่วยเหลือขายเพียง 2,110 หน่วย อัตราการขายคอนโดมิเนียมบริเวณนี้เฉลี่ยสูงถึงประมาณ 1,800 – 2,000 หน่วยต่อปี

ทั้งนี้ ระดับราคาขายคอนโดมิเนียมบริเวณนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันระดับราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมบริเวณนี้อยู่ที่ประมาณ 88,000 บาท ต่อตารางเมตร ปรับเพิ่มจากปี 2554 ที่ราคา 66,360 บาท ต่อตารางเมตร และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 100,000 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่หลายโครงการในย่านนี้ได้เปิดขายโครงการในราคาที่สูงกว่า 120,000 บาท ต่อตารางเมตรไปแล้ว

นอกจากนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนราคาที่ดินที่เพิ่มสูงถึงกว่า 350,000 บาทต่อตารางวา ในปัจจุบันย่อมส่งผลให้ระดับราคาขายคอนโดในอนาคตมีราคาขายเฉลี่ยสูงกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่ความต้องการที่ดินที่จะนำไปพัฒนาโครงการของนักพัฒนายังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เพราะศักยภาพในการพัฒนาโครงการที่มีอยู่สูงมากในอนาคต จากการพัฒนาของสถานีกลางบางซื่อและโครงการรถไฟฟ้าระบบรางต่างๆ ที่จะแล้วเสร็จในปี 2562 ย่อมส่งผลต่อความต้องการซื้อของคนที่น่าจะหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในพื้นที่เตาปูน-บางซื่อ อันจะส่งผลให้ระดับราคาขายคอนโดมิเนียมขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับราคา 120,000 บาท ต่อตารางเมตร หรืออาจสูงถึง 150,000 บาท ต่อตารางเมตรในบางโครงการ

นายพนม กล่าวสรุปว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จและได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้ในเดือนพฤษภาคม 2559 และเปิดให้บริการจริงในเดือนสิงหาคม 2559 และการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงสถานีบางซื่อ-เตาปูนในเดือนสิงหาคม  2559  จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีม่วง กับระบบขนส่งมวลชนแบบรางระบบอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและความสะดวกในการเดินทางของพื้นที่ย่านเตาปูนและความต้องการที่อยู่อาศัยย่านเตาปูนอย่างมาก