ทุนใหญ่ตีตราจองอีอีซี! เทกระจาด 5 โครงการ 6.5 แสนล้าน ผลตอบแทน 1 ล้านล้าน

04 ต.ค. 2561 | 14:42 น.
041061-2128

อีอีซีเดินหน้าดันเมกะโปรเจ็กต์ 6.5 แสนล้าน ชง 'ประยุทธ์' อีก 4 โครงการ ไฟเขียวกรอบงบประมาณลงทุน 9 หมื่นล้าน ด้านกลุ่มทุนใหญ่ดาหน้าชิงเค้กก้อนโต ขณะที่ รัฐได้ผลตอบแทน 1.13 ล้านล้าน

เหลือเวลาไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ให้จบในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะโครงการเร่งด่วนในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จำนวน 5 โครงการ เม็ดเงินลงทุนประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ที่จะต้องเปิดประมูลและสามารถลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ก.พ. 2562

 

[caption id="attachment_328181" align="aligncenter" width="503"] กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[/caption]

ดันอีก 4 โครงการ เดินหน้า
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรอบวงเงินที่รัฐจะร่วมลงทุนกับเอกชนไม่เกิน 119,420 ล้านบาท จากมูลค่ารวมโครงการทั้งสิ้น 182,524 ล้านบาท ไปแล้วนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 4 ต.ค. นี้ ทางคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะมีการเสนอโครงการเร่งด่วนอีก 4 โครงการ ให้ กพอ. เห็นชอบในหลักการ


ไฟเขียวรัฐลงทุน 9 หมื่นล้าน
พร้อมทั้งให้พิจารณาเห็นชอบกรอบเงินลงทุนของภาครัฐ รวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ที่จะนำไปใช้ลงทุนร่วมกับเอกชน ทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการเมืองการบินภาคตะวันออกสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการราว 2.9 แสนล้านบาท ใน 4 กิจกรรม ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์ธุรกิจการค้า พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรี และกลุ่มอาคารคลังสินค้า โดยภาครัฐจะลงทุนราว 17,730 ล้านบาท ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางวิ่งที่ 2 อาคาร เป็นต้น

2.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการราว 1.14 แสนล้านบาท ภาครัฐจะลงทุนราว 53,490 ล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนในส่วนของงานก่อสร้างท่าเรือ เช่น งานขุดลอก การถมทะเล เขื่อนกั้นคลื่น เป็นต้น ขณะที่ เอกชนจะลงทุนท่าเทียบเรือตู้สินค้า F ความยาวหน้าท่า 2,000 เมตร เป็นต้น

3.โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการราว 55,400 ล้านบาท ภาครัฐลงทุนในส่วนของงานโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถมทะเล 1 พันไร่ ราว 12,900 ล้านบาท และเอกชนจะลงทุนในส่วนของงานก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซ งานก่อสร้างท่าเทียบเรือของเหลว และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า

4.โครงสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือ MRO มูลค่าโครงการราว 10,588 ล้านบาท เป็นส่วนของภาครัฐลงทุน 6,333 ล้านบาท นำมาใช้สำหรับก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และเอกชนลงทุนค่าเครื่องมือ อุปกรณ์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หากรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ด้วยแล้ว ทั้ง 5 โครงการภาครัฐ จะต้องใช้งบประมาณลงทุนราว 2.1 แสนล้านบาท จากมูลค่ารวมประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะก่อให้รัฐได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจราว 7.65 แสนล้านบาท และได้ผลตอบแทนทางการเงิน รวมภาษีราว 3.74 แสนล้านบาท


93240

เอกชนดาหน้าสนใจลงทุน
"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบพบว่า ทั้ง 5 โครงการ ได้รับความสนใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมากที่จะเข้าร่วมประมูล โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่ในวงการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มี 2-3 กลุ่มหลัก ที่จะยื่นซองประมูล ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง หรือ ซีพี ร่วมกับ ซิติก กรุ๊ป รัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีน และบริษัท อิโตชู จากญี่ปุ่น ขณะที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จะร่วมกับกลุ่มพันธมิตรเดิม อย่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และอีกกลุ่มจะเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ขณะที่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะรวม 4 กิจกรรม เปิดประมูลสัญญาเดียว มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาร่วมประมูล เช่น AviAlliance Gmbh Of Germany , GMR Group-Airport , GVK Airport India , VINCI Airport Singapore , China State Construction Engineering , EGIS Group (ฝรั่งเศส) , TAV Airport Holdings , AGP Corporation (ญี่ปุ่น) , อียิปต์ แอร์พอร์ต , ไชน่า เรียลเวย์ คอนสตรัคชั่น , Egis International , แฟรงก์เฟิร์ต แอร์พอร์ต , King Wai Group , Harrow Management International


PowerPoint Presentation

ส่วนโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ทางกลุ่ม ปตท. , บริษัท ไทย แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด , บริษัทในกลุ่มกัลฟ์ , บริษัท นทลีน จำกัด เป็นต้น ได้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงที่จะเข้าลงทุน เพื่อดำเนินการจัดสร้างพื้นที่จัดเก็บถังสารเคมี (Liquid Chemical Tank farm) และถังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG Storage Tank) รวมทั้งพร้อมที่จะดำเนินกิจการบริหารจัดการท่าเรือ การก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล เพื่อลงทุนโครงการท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว รวมถึงกลุ่มบริษัทที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน เช่น บริษัท ไทยพรอสเพอริตี้ เทอมินอล จำกัด , บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด , บริษัท ระยองเทอร์มินอล จำกัด เป็นต้น


ทุนสิงคโปร์จองแหลมฉบัง
สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จากที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ มาร์เก็ตซาวดิ้ง พบว่า กลุ่มบริษัทท่าเรือยักษ์ของโลกให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม PSA จากสิงคโปร์ , กลุ่มฮัทชิสัน จากฮ่องกง , กลุ่มอิโตชู และมิตซุย จากญี่ปุ่น , กลุ่มไชน่า อาร์เบอร์ เอ็นจีเนียริ่ง จากจีน และกลุ่มเอเวอร์กรีน จากไต้หวัน เป็นต้น

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา หรือ MRO ทางบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีจี จะร่วมทุนบริษัท แอร์บัสฯ ในสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายละ 50%


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,406 วันที่ 4 - 6 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
5 เมกะโปรเจ็กต์อีอีซี เอกชนฟันกำไร 1.12 แสนล้าน
'อุตตม' ชงบอร์ดอีอีซีเคาะลงทุนกว่า 4 แสนล้าน


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว