ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่และการก่อสร้าง อาคาร City Garden (1)

04 ต.ค. 2561 | 13:42 น.
ข้อเท็จจริง-1 090861-1927-9-335x503-335x503 เพิ่มเพื่อน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวใหญ่เรื่องเมื่อสภาสถาปนิก ได้ออกมาแถลงเกี่ยวกับอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ต่อสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไป เรื่อง “สุวรรณภูมิอาคาร 2 ความจริงที่คนไทยต้องรู้” โดย พล.ร.อ. ฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิกไทย พร้อมด้วย ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานสากลแห่งใหม่ หรือ บทม. กับคณะ

โดยเปิดเผยว่า ตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่กำลังคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พบว่ามีการปรับผังแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และย้ายตำแหน่งที่ตั้งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มาอยู่บริเวณทิศเหนือปลายอาคารเทียบเครื่องบิน Concourse A พื้นที่อาคาร 348,000 ตร.ม. ค่าก่อสร้าง 35,000 ล้านบาท รวมระบบจะเป็นเงิน 42,000 ล้านบาทนั้น ตำแหน่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามผังแม่บท (Master Plan) และเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังสนามบิน ซึ่งผังแม่บทถือเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและบริหารจัดการ
0055555 โดยที่ตั้งใหม่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินที่มีอยู่เดิม ทำให้มีปัญหาทางเทคนิค ปัญหาการสัญจรทางอากาศและภาคพื้น การจราจรเข้าออกสนามบิน มีปัญหาการบริการด้านการบิน และเพิ่มต้นทุนระยะยาว

นอกจากนี้ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ขณะที่ ทอท.มีโครงการพัฒนาขยายอาคาร Satellite ที่กำลังก่อสร้าง ควรขยายอาคารผู้โดยสารเดิมออกไปทางด้านตะวันออกและตะวันตกต่อเนื่อง ซึ่งมีพื้นที่รวม 3 แสน ตร.ม. เพื่อทำให้เทอร์มินัลปัจจุบันมีความสมบูรณ์ และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่(อาคาร2) ด้านทิศใต้ ให้ต่อเนื่อง

สรุปง่ายๆ ก็คือ ทอท. กำหนดพื้นที่ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ผิดที่ผิดทางในสาระสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะก่อปัญหาและความเสียหายตามมาอีกมากมาย ปัญหาจึงไม่ใช่เพียงเรื่องการคัดเลือกผู้ออกแบบชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น และสภาสถาปนิก ยังเตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาทบทวนให้ ทอท.ได้ยุติการดำเนินการที่ไม่ชอบดังกล่าวอีกด้วย
0666 นอกจากสภาสถาปนิก จะออกมาชี้ปัญหาที่มีเหตุผลอย่างหนักแน่นดังกล่าว ในประเด็นความเหมาะสมของแบบและตำแหน่งที่ตั้งของอาคารซึ่งไม่ตรงกับตำแหน่งตามแผนแม่บท(Master Plan) ของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยแผนแม่บทดังกล่าวจัดทำโดย บริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของอเมริกาแล้ว นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้มีอาชีพเป็นที่ปรึกษาด้านคมนาคมขนส่ง ทำงานในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย และเคยทำงานให้กับบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ฯ อยู่หลายปี เป็นผู้ร่วมศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบท่าอากาศยานทั่วประเทศไทย (Airport System Master Plan) ระหว่างปี 2533-2534 และยังเป็นผู้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิในปี 2535-2536 ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้โดยสอดคล้องกับความเห็นของสภาสถาปนิกอีกด้วย

นอกจากเรื่องที่ตั้งแล้ว นายสามารถ ยังได้ชี้ประเด็นสำคัญเพิ่มเติมที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ก่อนการเปิดใช้สนามบินในวันที่ 28 กันยายน 2549 ทอท.และ บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด หรือ เคพีเอส ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ สัญญาที่ ทสภ.1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 อายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 โดยเคพีเอสเสนอที่จะทำ Jungle Garden บริเวณอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของอาคาร

ต่อมาเคพีเอสมีหนังสือที่ คพส.040/2548 ลงวันที่ 13 กันยายน 2548 ถึง ทอท.ขอใช้พื้นที่สร้างอาคาร City Garden ขนาด 2 ชั้น บริเวณอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยพื้นที่ชั้นที่ 1 จะทำเป็นสำนักงาน และชั้นที่ 2 จะทำกิจกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ที่ประชุมคณะอนุกรรม การบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ได้มีมติเห็นชอบตามที่เคพีเอสร้องขอ แต่ก็ได้ระบุชัดว่า หาก ทอท.มีแผนขยายอาคารผู้โดยสาร เคพีเอสจะต้องรื้อถอนอาคาร City Garden ออกไป
0333 การแสดงความคิดเห็นของ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 มีรายละเอียดเกี่ยวกับ อาคาร City Garden ไว้โดยละเอียด พร้อมอ้างอิงหนังสือและรายงานการประชุมของ ทอท.ในการพิจารณาเรื่องนี้ไว้ โดยมีเหตุผลให้น่ารับฟังอย่างยิ่ง ทำให้เข้าใจได้ว่าอาคาร City Garden อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการย้ายที่ตั้งอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 จนปรากฏเป็นข่าวและทำให้ ทอท.จำเป็นต้องตอบคำถามข้อสงสัยในเรื่องนี้ให้กระจ่างแจ้ง

มิเช่นนั้นอาจทำให้ ทอท.ต้องตกเป็นจำเลยสังคมในความโปร่งใสในการพิจารณาโครงการสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 โดยผิดเพี้ยนไปจากแผนแม่บท รวมถึงข้อสงสัยว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเอกชนรายใดหรือไม่

เพื่อให้ผู้อ่านที่ศึกษาและติดตามปัญหาเรื่องนี้ ในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้เงินของแผ่นดิน อันก่อให้เกิดความเสียหายและสร้างความสูญเสียโดยไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน เพื่อช่วยบ้านเมืองในการปกป้องประโยชน์ประเทศชาติ ผู้เขียนจึงขอนำ “รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่อง การจัดสรรพื้นที่และการก่อสร้างอาคาร City Garden ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”
04444
โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินงานโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลงวันที่ 31 มกราคม 2551 ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เรื่องนี้ประกอบด้วย พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธานกรรมการ, ร.ต.สุทิน สุขสุเดช อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด, นายกมล ทรงเจริญ ทนายความ, รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์, พ.ต.อ.อโณทัย บำรุงพงษ์ เป็นกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการบริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้นคือ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ตามคำสั่งที่ 355/2550 มาเสนอข้อเท็จจริงว่า

กรณีอาคาร City Garden มีข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของคณะกรรมการดังกล่าวอย่างไร มีที่มาอย่างไร การดำเนินการขอใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคาร City Garden ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทอท.ได้ประโยชน์หรือเสียหายอย่างไร จากกรณีดังกล่าว รายละเอียดทั้งหมดจะปรากฏในรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอต่อท่านผู้อ่านเป็นตอนๆ ต่อไป

ขอเรียนว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มาจากรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการที่ ทอท.แต่งตั้งขึ้น อ่านเรื่องนี้แล้ว จะทำให้ท่านเข้าใจยิ่งขึ้นว่า สนามบินสุวรรณภูมิ ทำไมจึงกลายเป็นขุมทรัพย์สำหรับบางคนบางกลุ่มทุน จนกลายเป็นมหาเศรษฐีของประเทศได้ และ City Garden มีส่วนทำให้แผนขยายสนามบินต้องล่าช้า และที่สุดต้องย้ายไปสร้างโดยผิดจากแผนแม่บทหรือไม่ อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม

| คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3406 ระหว่างวันที่ 4-6 ต.ค.2561
595959859