สรท.ชี้ส่งออกปี62 ขยายตัว5%

04 ต.ค. 2561 | 11:08 น.
สรท.คาดส่งออกปี62 น่าจะขยายตัว5% เชื่อไทยผ่านจุดส่งออกต่ำที่สุดมาแล้ว รอผลวิเคราะห์จากทูตพาณิชย์ 18 ต.ค.นี้ ส่วนส่งออกปีนี้ยังมั่นใจขยายตัว 9% จากปัจจัยหนุนสงครามการค้ามีผลต่อสินค้าเกษตรไทยส่งออกดีขึ้น

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2561 โต 9% บนสมมุติฐาน ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในกรอบ 3.8-4% และปัจจัยที่ยังคอยสนับสนุนให้การส่งออกไทย ขยายตัวไปในทิศทางที่เป็นบวก การส่งออกไปตลาดสำคัญโตขึ้น อาเซียน จีน สหรัฐ CLMV และญี่ปุ่น แม้บางประเทศการส่งออกจะลดลงบ้าง เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง

kan

แต่ยังมีปัจจัยอื่นหนุน สงครามการค้าและการปรับขึ้นภาษีรอบที่ 3 ของสหรัฐ พบว่า มีรายการที่ส่งผลดีต่อสินค้าไทยในการส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ข้าว ยางพาราขึ้นรูป ผักและผลไม้ อาหารทะเล ไทยได้รับอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิต ดึงดูดนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า เข้ามาลงทุนมากขึ้น ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ความยืดเยื้อของสงครามการค้า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ปัญหามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ เป็นต้น

“ทั้งนี้สรท.มองว่าส่งออกในปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ 5 % เนื่องจากฐานตัวเลขการส่งออกของปี2560และปี2561 ค่อนข้างสูง และที่ผ่านมาไทยเคยอยู่ในจุดที่ส่งออกต่ำสุดแล้ว ดังนั้น การส่งออกไทยไม่น่าจะกลับไปยังจุดที่ต่ำสุดได้อีก แต่ทั้งนี้คงต้องรอประเมินสถานการณ์ภาพรวมการส่งออกของไทยอีกครั้งในวันที่18 ต.ค.นี้ ที่ทางกระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน”

090861-1927-9-335x503-335x503

นอกจากนี้ สรท. ต้องการให้ภาครัฐติดตามและกำกับดูแล คือเรื่องของค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพโดยเฉพาะในกลุ่ม Emerging Market เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง มาตรการทางการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้า (NTMs/NTBs) รวมถึงเร่งเปิดตลาดคู่ค้าใหม่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงโครงสร้างต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ ในช่วงที่ค่าเงินมีความผันผวนและการตอบโต้ของมหาอำนาจทางการค้า

สำหรับ การส่งออกเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ที่ 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าในเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 22.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ เดือนสิงหาคม 2561 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 588 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาพรวมช่วงเดือน ม.ค.- ส.ค. ปี 2561 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 169,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.0% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 166,679 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ ช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

595959859