“หมอประเวศ” ชี้สังคมไทยต้องใช้ “อริยะพัฒนา” กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นตำบลแห่งความดีงาม ขณะเดียวกันสสส.ขยายเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าไปแล้วเกือบ 3,000 ตำบล พร้อมยก 789 ชุมชนสู่ต้นแบบชุมชนสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ

03 ต.ค. 2561 | 13:43 น.
“หมอประเวศ” ชี้สังคมไทยต้องใช้ “อริยะพัฒนา” กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นตำบลแห่งความดีงาม ขณะเดียวกันสสส.ขยายเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าไปแล้วเกือบ 3,000 ตำบล พร้อมยก 789 ชุมชนสู่ต้นแบบชุมชนสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ โดยวางเป้ากระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในปี 2570 ฉลองพระชนมายุครบ 100 ปี รัชกาลที่ 9
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ชุมชนท้องถิ่น ฐานพัฒนาสุดยอดผู้นำ” ในงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ”ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ” ที่ห้อง Royal Jubilee ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่า เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ก็ทำให้ประเทศเจริญ ปลอดภัย และการที่ท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ ก็ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้ง เยอรมนี ญี่ปุ่น ที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ฉะนั้นหากมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปของรัฐบาล หลังเลือกตั้งคราวนี้ ประชาชนควรเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง 341020
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้นำประเทศ ก็ควรมาจากท้องถิ่นหรือผู้นำตามธรรมชาติ เพราะท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนสุจริต ฉลาด เห็นแก่ส่วนรวม ทำงานเก่ง จึงได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ซึ่งแตกต่างจากผู้นำที่มาจากการใช้วาทกรรมหรือใช้เงิน เพราะผู้นำตามธรรมชาติมีคุณภาพสูงกว่า
ศ.นพ.ประเวศ ขยายความว่า ในหมู่บ้านหนึ่งๆ จะมีผู้นำตามธรรมชาติประมาณ 50 คน หรือทั้งประเทศราว 4 ล้านคน ถ้าคนเหล่านี้ถูกส่งเสริมให้มีศักยภาพสูงสุด ก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ฉะนั้นจึงถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องร่วมกันทำให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทุกตำบลจะได้เป็นตำบลสุขภาวะ เป็นตำบลแห่งความดีงาม หรือที่เรียกว่า “อริยะพัฒนา” แต่อย่างไรก็ตามจะมาถึงจุดนี้ได้ คนทั้งตำบลต้องรวมตัวกันเป็นประชาคมตำบล ฝันถึงเป้าหมายร่วมกัน คือตำบลสุขภาวะและดีงามที่สุด ขณะเดียวกันก็คิดว่าต้องทำอย่างไร ควรมีการจัดทำแผนตำบลหรือธรรมนูญพัฒนาตำบล และขับเคลื่อนพัฒนาตำบลอย่างบูรณาการ โดยมี 8 เรื่องเชื่อมโยงกัน ได้แก่ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้ออม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย
“ตอนนี้เรามี 789 ชุมชนที่กำลังจะยกเป็นชุมชนสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง-เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ ต่อไปภายในปี 2570 เรามีเป้าหมายจะทำเรื่องดีๆ เหล่านี้ให้ทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อฉลองพระชนมายุครบ 100 ปี รัชกาลที่ 9” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว 341018
ด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์การพัฒนาสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ว่า จากจัดเก็บฐานข้อมูลสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่ทำงานรวมกับ สสส. มีทั้งหมด 2,863 ท้องถิ่นจำนวน 8.8 ล้านคน ใน 2.7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.3 ของประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน ซึ่งข้อมูลสุขภาวะ ใน 7 ประเด็นพบว่า 1.การควบคุมการสูบบุหรี่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ 2.การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มี 6.6 แสนคนที่ดื่มประจำคิดเป็นร้อยละ 7.47 ของจำนวนสมาชิก 3.การจัดการอาหารชุมชน พบว่า ไม่มีปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งมีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ร้อยละ 10.51 หรือ 126,956 ครัวเรือน 4.การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชนมีโครงการที่ดูแลเด็กรวม 3.5 แสนคนใน 2.9 แสนครัวเรือน 5.ผู้สูงวัยอยู่ในความดูแลจำนวน 1.7 ล้านคน หรือร้อยละ 19.51 ซึ่งในจำนวนนี้มีมีผู้สูงวัยมากถึงร้อยละ 61.5 ที่สามารถประกอบอาชีพมีคุณภาพชีวิตเกณฑ์ดี 6.การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมชุมชนมี 2,788,719 ครัวเรือนที่เข้าร่วมการจัดการ และ 7.การดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้ป่วย เป็นต้น
“สิ่งที่เราพยายามตอกย้ำพื้นที่เครือข่าย คือ หากเราจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งนอกเหนือจากการมีสุดยอดผู้นำแล้ว ต้องเชี่ยวชาญในการใช้ข้อมูล และมีคณะทำงาน เราพยายามกระตุ้นให้สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นมีสำนึกสาธารณะ ในเรื่องที่ความรู้ชัด วิธีปฏิบัติก็ไม่ยาก ผู้ร่วมมือเยอะ ซึ่งหลังจากนี้ทั้ง 789 ตำบลที่อยู่ในเครือข่ายจะต้องเป็นฐานเรียนรู้ให้กับอีก 7,000 ตำบลทั่วประเทศ และเป็นฐานการขับเคลื่อนประเทศและยกระดับพัฒนาเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อไป” น.ส.ดวงพร กล่าว e-book-1-503x62-7