"พระเครื่อง 3 มิติ" คว้ารางวัล "SIA 2018"

03 ต.ค. 2561 | 09:54 น.
โครงการ Young Technopreneur 2018 ปิดฉากสวย ทุกผลงานที่ได้รับรางวัลล้วนต่อยอดทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีได้จริงและมีความแปลกใหม่ พร้อมประกาศปี 2019 กลุ่มสามารถและ สวทช. จับมือต่อเนื่อง ลุยปั้นคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ และมี Passion แบบจัดเต็ม ให้พร้อมเป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริง ปีที่ 8 เน้นเป็นโครงการที่เจาะลึกด้านความรู้อย่างต่อเนื่อง สอดรับแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรม และนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้และต่อยอด

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ร่วมกับ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศรางวัล Samart Innovation Awards 2018 หรือ SIA2018 และร่วมมือเดินหน้าโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี หรือ Young Technopreneur ก้าวสู่ปีที่ 8 อย่างต่อเนื่อง


A3186347-73B8-467E-A4AA-76CB7D2C8DE8

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า "กลุ่มบริษัทสามารถมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดโครงการที่สนับสนุนด้านความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ Samart Innovation Awards มาตลอด 16 ปี เราได้เห็นพัฒนาการและไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่กว่า 7,000 คน และมีการปรับรูปแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ร่วมโครงการ โดยได้ร่วมมือกับ สวทช. จัดโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี หรือ Young Technopreneur มาถึง 7 ปี เพื่อสร้างเวทีให้น้อง ๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ ได้มีเวทีสร้างโอกาสให้เป็นจริงได้ ที่สำคัญน้อง ๆ ได้รู้จักกันและกลายเป็นเครือข่ายทางธุรกิจ มีการจับมือกัน เกิดเป็นธุรกิจเทคโนโลยีหลากหลาย จึงมั่นใจได้ว่า โครงการฯ นี้ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการสร้าง "โอกาส" ให้กับคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง"

"หลังจากผ่านช่วงการคัดเลือกกันมาอย่างเข้มข้น มีการอบรมและลงมือปฏิบัติจริงในเรื่องการทำธุรกิจอย่างจริงจัง พร้อมได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ จากกูรูผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรชื่อดังในวงการอย่างใกล้ชิด ในที่สุดก็ได้สุดยอดผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้จริง พร้อมรับเงินรางวัลและโอกาสดูงานด้านเทคโนโลยี ณ ประเทศญี่ปุ่น อันได้แก่ รางวัลที่ 1 Samart Innovation Award (SIA) ปี 2018 พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท ได้แก่ ผลงานพระเครื่อง 3 มิติ นวัตกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ศึกษาพระเครื่อง ด้วยการผนวกเทคโนโลยี 3 มิติ ที่สามารถดูพระเครื่องแท้ได้แบบพาโนรามา (Panorama) 360 มุมมอง รองรับ 3 ภาษา และมีระบบซื้อขายและประมูลผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งจะสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการพระเครื่อง , รางวัลที่ 2 เงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท ได้แก่ ผลงาน  ActiveBoost อนุภาคนาโนอัจฉริยะ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยกักเก็บสารอาหารที่มีประโยชน์ และปล่อยเข้าสู่ร่างกายได้อย่างจำเพาะเจาะจงและเต็มประสิทธิภาพ สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์และนาโนเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีการพิสูจน์แล้วจากการวิจัยและการทดลองทางวิทยาศาสตร์

และรางวัลที่ 3 เงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท ได้แก่ ผลงาน คิดถึง แอพพลิเคชันแหล่งรวมบริการรถยนต์ครบวงจร เป็นระบบค้นหาอู่ หรือ ศูนย์ซ่อม รวมถึงโปรโมชันและบริการเดลิเวอรี่เกี่ยวกับรถยนต์ ทำให้เจ้าของรถยนต์มีความสะดวกสบายมากขึ้น ส่วนผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 16 ทีม โครงการยังเห็นโอกาสด้านธุรกิจจึงสนับสนุนทุนในการพัฒนาผลงาน จำนวน 30,000 บาทด้วย"


FD160146-B198-48A4-B87D-EA2F23758A32

ด้าน ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อํานวยการ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี หรือ Young Technopreneur ตั้งแต่ปี 2555-2561 มีผู้สมัครเข้าทั้งนิสิต นักศึกษา และประชานทั่วไป อายุตั้งแต่ 20-35 ปี มีจำนวนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 850 ทีม โดยศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. และ บมจ.สามารถฯ ได้เลือกผู้เข้าร่วมโครงการฯ 400 ทีม อบรมความรู้พื้นฐานธุรกิจเพื่อพัฒนาความรู้สำคัญในการนำเทคโนโลยีออกสู่ตลาด โดยได้รับคำปรึกษาจากศูนย์บ่มเพาะฯ กว่า 880 คน เกิดการตั้งธุรกิจจำนวน 45 ราย มีรายได้รวม 29 ล้านบาท และมีอัตราการจ้างงานแล้ว 80 อัตรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของประเทศไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมสมัคร 138 ทีม และคัดเลือกทีมที่มีแนวธุรกิจชัดเจน เหลือ 64 ทีม ก่อนคัดเลือกมาเหลือ 19 ทีม มาแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจต่อผู้เชี่ยวชาญและประกาศผล

ดร.ฐิตาภา กล่าวว่า สำหรับในปีหน้ายังเน้นหลักสูตรอบรมเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง โดยนำข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินผลโครงการฯ ทั้ง 7 รุ่น มาปรับปรุงเนื้อหากิจกรรมให้เหมาะกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ โดยยังคงให้ความสำคัญภายใต้ "การนำแนวคิดสู่ธุรกิจทำเงิน" โดยน้อง ๆ ต้องผ่านการอบรมทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดพื้นฐานในการทำธุรกิจ การศึกษาความต้องการตลาด ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ทักษะการนำเสนอ พร้อมกิจกรรม Idea To Market Boot Camp ซึ่งถือเป็น Workshop ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ลงภาคสนามเพื่อสำรวจตลาด เก็บข้อมูล วิเคราะห์ และวางแผนการทำธุรกิจด้วยหลักการที่เรียนมา สำหรับโครงการ Young Technopreneur ปี 2019 ได้กำหนดหัวข้อในการประกวดให้สอดรับกับแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรม และนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้และต่อยอด โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีหลัก ๆ ได้แก่ 1.เทคโนโลยีอาหารและการเกษตร 2.เทคโนโลยีการแพทย์และบริการเพื่อผู้สูงอายุ 3.เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว 4.เทคโนโลยีด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ 5.เทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์และ Automation และ 6.เทคโนโลยี IOT

"ผลงานของน้อง ๆ ปีนี้ มีมุมมองในการพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะไม่ได้มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างเท่านั้น แต่มีการศึกษาค้นคว้าทั้งพฤติกรรมและความต้องการของตลาด แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ไปค้นหางานวิจัย เพื่อช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการผู้ใช้เป็นสำคัญ ทำให้เรามั่นใจว่า หากโปรดักส์ของน้อง ๆ มีความพร้อม และมีการศึกษาความต้องการตลาด ต่อยอดจนเกิดแนวคิดธุรกิจที่ใช่ บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจ โครงการฯ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีให้รวดเร็วยิ่งขึ้นได้" ดร.ฐิตาภา กล่าว


e-book-1-503x62-7