16 ปี วันสถาปนา "ดีเอสไอ" รวมพลังต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

03 ต.ค. 2561 | 09:33 น.
S__90447904

กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2545 ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2545 โดยมีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมคดีพิเศษ ที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และความปลอดภัย และเน้นดำเนินคดีเพื่อปกป้องและรักษารายได้ของรัฐ รวมทั้งป้องกัน ปราบปราม ขบวนการทุจริต และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติงาน

ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการปรับปรุงภารกิจและอำนาจหน้าที่เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบัน มีการแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2560 และมีการปรับปรุงการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรรม ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การมุ่งเน้นการปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ 2.ทำคดีพิเศษให้มีความชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกับงานตำรวจ และ 3.อำนวยความยุติธรรมคดีอาญาอื่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้นำนโยบายดังกล่าวมาเป็นกรอบในการทบทวนบทบาทหน้าที่ด้านงานคดีพิเศษ และปรับลดงานคดีพิเศษที่หมดความจำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนและสอบสวนโดยใช้วิธีการพิเศษ จากเดิมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจำนวน 37 ฉบับ กว่า 100 ฐานความผิด เหลือเพียง 23 กฎหมาย ประมาณ 50 ฐานความผิด ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษได้เห็นชอบตามแนวทางดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างออกประกาศ กคพ. กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เพื่อใช้บังคับต่อไป

ในมิติด้านการดำเนินคดีพิเศษนั้น ตั้งแต่มีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2545 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 16 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการสอบสวนดำเนินคดีพิเศษไปแล้วถึง 2,531 คดี โดยดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว 2,162 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 369 คดี นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่รับไว้สืบสวนก่อนรับเป็นคดีพิเศษถึง 2,778 เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว 2,662 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 116 เรื่อง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แบ่งประเภทของอาชญากรรมที่รับไว้ดำเนินการเป็น 4 กลุ่มคดี ดังนี้

1.ด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชญากรรมด้านการเงิน การธนาคาร การภาษีอากร การฟอกเงิน การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การคลัง กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 758 คดี

2.ด้านอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 518 คดี

3.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 354 คดี

4.ด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ได้แก่ อาชญากรรมที่เป็นความผิดข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมที่กระทบต่อความมั่นคงประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และอาชญากรรมพิเศษอื่น ๆ กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 901 คดี

โดยคดีพิเศษที่ดำเนินการแล้วเสร็จนั้น เมื่อนำมาคำนวณมูลค่าความเสียหาย/ผลประโยชน์ที่ปกป้อง รักษา เรียกคืนให้แก่รัฐ เอกชน และประชาชนแล้ว มีมูลค่าถึง 400,821 ล้านบาทเศษ ในขณะที่แต่ละปี กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น


S__90447905

ในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้กำหนดทิศทางการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม โดยมุ่งเน้นการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนอาชญากรรม ที่มีลักษณะพิเศษในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ดังนี้

1.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
2.ด้านการกู้ยืมเงินอันเป็นการรฉ้อโกงประชาชน และระบบสถาบันการเงิน การฟอกเงิน
3.ด้านการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ
4.ด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ที่เป็นผลผลิตจากนโยบาย Thailand 4.0
5.ด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Thailand 4.0

สำหรับการบริหารจัดการกรมสอบสวนคดีพิเศษในอนาคต จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เท่าทันกับอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงให้เกิดการพัฒนาในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวน และมุ่งสร้างคนที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานเป็นทีมในรูปแบบ "สหวิชาชีพ" นอกจากนั้นแล้วจะมุ่งเน้นในเรื่องการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคในกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษร่วมกันต่อไป รวมถึงการสนับสนุนบุคลากร องค์ความรู้ ให้กับส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อร่วมกันป้องกัน ปราบปราม อาชญากรรมอื่น ๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมต่อไป

สำหรับการมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบแก่รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ได้คำนึงถึงหลักการสหวิชาชีพตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรม โดยรองอธิบดีทุกคนจะได้รับมอบอำนาจหน้าที่ในการสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดี ทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานที่สนับสนุนการสืบสวนสอบสวน รวมถึงภารกิจอื่น ๆ เช่น งานผู้บริหารด้านการเงิน งานผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง งานผู้บริหารด้านจัดการองค์ความรู้ และงานผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงด้วย

อนึ่ง ในการปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จ มิได้เป็นผลจากเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษเพียงหน่วยงานเดียว แต่ยังมีพันธมิตรในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภาคประชาสัมคม ที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษจนเกิดผลดีต่อทางราชการและสังคม


e-book-1-503x62-7