ทิ้งทวนที่ดินรัฐ! หารายได้แสนล้าน

03 ต.ค. 2561 | 10:43 น.
031061-1727

งัดที่ดินรัฐเข็นเข้าโครงการพีพีพีแสนล้าน! ทิ้งทวนตามเมกะโปรเจ็กต์ หารายได้ ... ร.ฟ.ท. ดัน 3 แปลง "มักกะสัน-กม.11-แม่น้ำ" ตามติดสถานีกลางบางซื่อ ขณะท่าเรือลุย 4 แปลง ขึ้นออฟฟิศ-คอมเพล็กซ์ ... "อธิบดีธนารักษ์" ย้ำ! ที่หมอชิตเซ็นสัญญาปีนี้ ... 'ยาสูบ' ไม่น้อยหน้า ได้ขุมทรัพย์ที่ราชพัสดุเพียบ

นอกจากรัฐบาลจะทิ้งทวนโครงการเมกะโปรเจ็กต์มูลค่าล้านล้านบาท ก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้ว ที่ดินแปลงใหญ่รัฐยังเป็นเป้าสำคัญที่เร่งประมูลหารายได้

 

[caption id="attachment_327571" align="aligncenter" width="335"] วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)[/caption]

รถไฟดันที่ 3 แปลงเข้าพีพีพี
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่ดินแปลงเอ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ล่าสุด ยังเร่งรัดที่ดิน 3 แปลงศักยภาพ เข้าโครงการพีพีพี ตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1.แปลงสถานีแม่น้ำ 2.กม.11 และ 3.โรงงานมักกะสัน มูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท หลังผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ ที่มี นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธาน


ไล่ขึ้นค่าเช่าสะท้อนราคาจริง
สำหรับที่ดิน ร.ฟ.ท. ใช้ในกิจการเดินรถ 2.3 แสนไร่ ขณะที่ดินหารายได้เชิงพาณิชย์ประมาณ 4 หมื่นไร่ทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างปรับสัญญาประเมินค่าเช่าใหม่ เช่น โรงแรมอีสติน ย่านมักกะสัน , โรงแรมทวินทาวเวอร์ ย่านยศเส โดยมอบให้บริษัทเอกชนประเมินมูลค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง สะท้อนราคาประเมินปัจจุบัน ก่อนต่อสัญญา เหมือนเซ็นทรัลลาดพร้าว เช่นเดียวกับที่ดินหัวหินอยู่ระหว่างเจรจา สำหรับทำเลรัชดาภิเษกส่วนใหญ่เป็นทางเชื่อมเข้าโรงแรมที่อยู่ระหว่างแจ้งผู้ประกอบการเพื่อปรับค่าเช่าเช่นกัน


GP-3405_181003_0016

ที่หมอชิตเซ็นสัญญาปลายปีนี้
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุถึงความคืบหน้าที่ดินหมอชิต ว่า คาดว่าจะเข้า ครม. สัปดาห์หน้า จากนั้นจะเซ็นสัญญากับคู่สัญญาเดิม คือ บางกอกเทอร์มินอล ตามเงื่อนไขพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูส มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และยังจัดพื้นที่สำหรับโครงการจอดแล้วจร ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ถือว่าเป็นทำเลที่ดีของการทำการค้า และเป็นศูนย์กลางในการเดินทาง มีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และ บขส. สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แล้วขึ้นรถโดยสารออกไปยังจุดหมายได้สะดวก สำหรับผลตอบทยที่กรมธนารักษ์ได้รับจากการให้เช่าที่ราชพัสดุ 30 ปี มีมูลค่า 3 พันล้านบาท ถือว่าคุ้มค่า เพราะผลตอบแทนของโครงการนี้แบ่งได้ 2 ส่วน ส่วนที่เป็นทรัพย์สิน เป็นอาคารที่สร้าง ชดเชยมูลค่าประมาณ 2.4 พันล้านบาท ซึ่งทางบริษัท บางกอกเทอร์มินอลฯ จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารส่วนที่ต่อจากศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าต่อขึ้นไป เพื่อให้ชั้น 3 และ 4 มีขนาดเนื้อที่ 1.2 แสนตารางเมตร ทำเป็นสถานีกลางของหมอชิตที่ย้ายกลับเข้ามา

นอกจากนี้ ยังมีเงินสดที่เป็นค่าเช่าที่กรมธนารักษ์จะได้อีก 600 ล้านบาท ในช่วง 30 ปี เมื่อรวมทั้ง 2 โครงการ ทำให้รัฐได้ประโยชน์จากโครงการหมอชิต ประมาณ 3 พันล้านบาท เช่นเดียวกับศูนย์ฯสิริกิติ์ รออัยการตรวจร่างสัญญาร่วมทุน และอีกแปลง คือ ร้อยชักสาม ที่คาดว่าทั้ง 3 แปลง จะเซ็นสัญญาภายในปีนี้


ปั้นที่เขต ศก.ชายแดน
นายพชร กล่าวต่อว่า การพัฒนาที่ดินของธนารักษ์นับจากนี้ จะเน้นสวัสดิการของรัฐมากกว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอกฎหมายให้ผ่าน สนช. หากผ่านจะทำให้ธนารักษ์ไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยจะเป็นรูปแบบพีพีพีของธนารักษ์เอง สามารถคัดเอกชนเข้าร่วมโครงการได้ เช่น สร้างบ้านคนไทย บ้านผู้สูงอายุ ส่วนเชิงพาณิชย์จะมุ่งไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นครพนม, มุกดาหาร และหนองคาย หลังเปิดประมูลพื้นที่ จ.ตาก, ตราด และสระแก้วไปแล้ว ส่วน จ.นราธิวาส อยู่ระหว่างรอที่ดิน

 

[caption id="attachment_327573" align="aligncenter" width="503"] ©OpenClipart-Vectors ©OpenClipart-Vectors[/caption]

ยาสูบจ่อพลิกที่ร้างเป็นพาณิชย์
ขณะที่ นายคณุตม์ ฤทธิสอน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ (สร.ยาสูบ) กล่าวว่า ที่ดินที่ราชพัสดุอยู่ในความครอบครองของยาสูบ 182 แปลง หลังโรงงานยาสูบตั้งนิติบุคคลเป็นการยาสูบ กรมธนารักษ์ได้โอนที่ดินที่ราชพัสดุที่อยู่ระหว่างใช้งานเป็นกรรมสิทธิ์ของการยาสูบ จำนวน 112 แปลง ที่ใช้ปลูกต้นยาสูบและที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์อีก 32 แปลง โดยนายคณุตม์ ระบุว่า สำหรับที่รกร้าง ต้องเร่งนำออกหารายได้ หรือ ทำประโยชน์ภายใน 3 ปี หากเพิกเฉย กรมธนารักษ์ใช้สิทธิ์เรียกคืนตามกฎหมาย ส่วนที่ดินอีก 38 แปลง ได้ส่งคืนธนารักษ์ สำหรับที่ดินโรงงานยาสูบ ราคาทุนจำนวน 599.05 ล้านบาท เป็นที่ดินในกรุงเทพมหานคร 667 ไร่ ที่ดินใน จ.พระนครศรีอยุธยา 242 ไร่ และในส่วนภูมิภาค 6,335 ไร่ รวมเป็น 7,244 ไร่


ท่าเรือนำที่ 4 แปลง หารายได้
แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า เตรียมนำที่ดิน 4 แปลง ออกหารายได้ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ขนาด 17 ไร่ (อยู่ด้านข้างอาคารสำนักงานใหญ่ กทท.) แนวคิดจะพัฒนาเป็น Maritime Center (ออฟฟิศบิลดิ้ง) 2.พื้นที่ 54 ไร่ บริเวณอาคารทวิช-โรงพยาบาลการท่าเรือฯ ฝั่งตรงข้ามกรมศุลกากร แนวคิดพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ 3.พื้นที่ 137 ไร่ บริเวณอู่รถเมล์ ขสมก.-ตลาดคลองเตย เลียบถนนสุนทร โกษา แนวคิดพัฒนาเป็นบิสสิเนสปาร์กย่านธุรกิจครบวงจร ชุมชนที่อยู่อาศัยใหม่ 4.พื้นที่ 15 ไร่ บริเวณคลังสินค้าผ่านแดนติดทางด่วน แนวคิดพัฒนาเป็นออฟฟิศบิลดิ้ง


เอกชนหนุนรัฐเร่งพัฒนา
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดิร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนส์ จำกัด ระบุว่า เห็นด้วยที่เร่งนำที่ดินแปลงใหญ่หลายแปลงหารายได้ เพราะมีปัจจัยเอื้อทั้งรถไฟฟ้าและผังเมือง มองว่าเป็นเรื่องที่ดี


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,405 วันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ยกเครื่องใหญ่! ONE MAP ขีดเส้นแนวเขตที่ดินรัฐ "มาตรฐานเดียว"
ใครฉ้อฉลที่ดินรัฐ?  จบไม่สวย! เตือนสติ... นักธุรกิจอย่าเอาเปรียบ


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว