'พีบีไอซี' เปิดหลักสูตร "อินเดียศึกษา"

03 ต.ค. 2561 | 05:45 น.
จากการจัดอันดับของธนาคารโลก "อินเดีย" ก้าวกระโดดขึ้นมามีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก แซงหน้าประเทศที่ครองอำนาจทางเศรษฐกิจมายาวนาน อย่าง 'ฝรั่งเศส' ได้ในปี 2560 นอกจากความน่าจับตามองทางด้านเศรษฐกิจของอินเดียแล้ว แง่มุมวัฒนธรรมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่งสำหรับอินเดีย เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม อีกทั้งมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จึงเป็นประเทศที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการเรียนสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) เปิดหลักสูตร "อินเดียศึกษา" เพื่อตอบโจทย์การผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญรอบด้านเกี่ยวกับประเทศอินเดีย โดยในประเทศไทยยังมีผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในประเทศอินเดียอย่างลึกซึ้งเป็นจำนวนน้อยมาก ซึ่งการเรียนในหลักสูตรอินเดียศึกษาที่พีบีไอซีนั้น มีความน่าสนใจทั้งด้านรายวิชาที่ จะได้เรียนตลอด 4 ปี การมีโอกาสได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาในประเทศอินเดีย รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ทำให้ได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์


บรรยากาศรอบๆ บริเวณพีบีไอซี (1)

หลักสูตรอินเดียศึกษา เป็นหลักสูตร 4 ปี โดยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ นักศึกษาจะได้ศึกษาความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยรวมในวิชาเรียนรวมของมหาวิทยาลัย ส่วนของวิชาเฉพาะของหลักสูตรอินเดียศึกษา ก็จะได้เรียนทั้งภาษาฮินดี รวมทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศอินเดียโดยเฉพาะ และในส่วนของวิชาเลือกเพิ่มเติม ก็จะมีวิชาบังคับที่มีเนื้อหาเจาะลึกลงไปในด้านสังคมศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น อีกทั้งยังมีวิชาเลือกเสรีให้ได้เลือกเรียนได้ตามความสนใจเพิ่มเติมของนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งในแต่ละรายวิชามีรายละเอียด ดังนี้

1.วิชาศึกษาทั่วไป หรือ หลักสูตรพื้นฐานของมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียน หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นวิชาเรียนรวม ซึ่งเป็นจุดเด่นของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่จะต้องได้เรียนวิชาเหล่านี้ตั้งแต่ปี 1 เพื่อปลูกฝังความเป็นธรรมศาสตร์ ตัวอย่างเช่น วิชาชีวิตกับความยั่งยืน หรือ มธ.103 ที่จะได้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงชีวิตของมนุษย์ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ถือว่าเป็นวิชาที่อินเทรนด์สุด ๆ อีกหนึ่งวิชาที่เป็นไฮไลต์ของการเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก็คือ วิชาพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ มธ.100 ซึ่งเป็นวิชาที่สอนให้นักศึกษาตระหนักถึงการทำเพื่อสังคม โดยวิชานี้นักศึกษาจะได้วางแผนและลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ


ภาพประกอบ (3)

2.วิชาหลักทางด้านอินเดียศึกษา (Area Study) หรือ เป็นวิชาที่เจาะลึกสำหรับนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งวิชาที่น่าสนใจและได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ วิชาภูมิศาสตร์ทางสังคมและการเมืองของอินเดีย นักศึกษาจะได้เรียนเรื่องการเจริญเติบโตของประชากร การกระจายและความหนาแน่นของประชากร โครงสร้างการศึกษาและการเติบโตของเมือง และการแบ่งส่วนพื้นที่ของอินเดีย และนัยยะทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความเป็นหนึ่งเดียวและความหลากหลาย เป็นต้น

นอกจากนี้ จะได้ศึกษาภาษาฮินดี ทั้งในแง่ไวยกรณ์และการสื่อสาร โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของอินเดีย ทั้งในวิชาด้านภาษาและวิชาเฉพาะของหลักสูตรอินเดียศึกษาบางวิชา เพราะการเรียนรู้จากเจ้าของภาษาและวัฒนธรรม จะทำให้เข้าถึงแง่มุมต่าง ๆ ของอินเดียได้อย่างชัดเจน

3.วิชาเลือก หรือ วิชาโท ในหลักสูตรอินเดียศึกษา นักศึกษาจะได้ศึกษาในประเด็นเพิ่มเติมนอกเหนือจากวิชาหลักของอินเดียศึกษา สำหรับใครที่สนใจศึกษาวิชาในหลักสูตรจีนศึกษา หรือ ไทยศึกษา ก็สามารถเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ข้ามหลักสูตรได้ อย่างเช่น ถ้านักศึกษาสนใจอยากเรียนรู้ทักษะการสื่อสารภาษาจีนในระดับเบื้องต้นจนถึงระดับกลาง ก็สามารถลงเรียนวิชา จศ.101 หรือ การฟังและการพูดภาษาจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาของหลักสูตรจีนศึกษา หรือหากสนใจแง่มุมด้านสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างลึกซึ้ง ก็สามารถเรียนวิชา ทศ.353 หรือ การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาของหลักสูตรไทยศึกษาได้ และหากสนใจศาสตร์อื่น ๆ เช่น การบริหาร การตลาด หรือ กฎหมาย ก็สามารถเลือกเรียนวิชาในหลักสูตรนานาชาติของคณะอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการลงทะเบียนเรียนวิชาต่าง ๆ ของแต่ละคณะ การเรียนวิชาเลือก หรือ วิชาโท จึงทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมตามความสนใจที่เฉพาะของแต่ละคน เพื่อเสริมความเชี่ยวชาญในหลักสูตรอินเดียศึกษาให้มีมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น


ภาพประกอบ (1)

4.วิชาเลือกเสรี นอกเหนือจากรายวิชาตามโครงสร้างหลักสูตรที่จัดสรรมาเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนอินเดียศึกษาที่พีบีไอซีแล้ว เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของนักศึกษาที่อาจไม่จำกัดแค่การเรียนในคณะ นักศึกษายังสามารถเรียนวิชาเลือกเสรี โดยเป็นวิชาของคณะใดก็ได้ที่เปิดสอนในหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการอนุมัติจากหลักสูตรนานาชาติที่ต้องการศึกษา ตัวอย่างวิชาที่สามารถเลือกเรียนได้ เช่น วิชาการตลาดระหว่างประเทศ หลักสูตรนานาชาติ ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (BBA) ที่เหมาะสำหรับคนที่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติมด้านระบบธุรกิจและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจระหว่างประเทศ แนวความคิดด้านการตลาดแบบไร้พรมแดน ตลอดจนประเด็นปัญหาการตลาดระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สำหรับคนที่สนใจด้านการบริหารจัดการองค์การและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ก็อาจเลือกเรียนวิชาเลือกเสรีลักษณะนี้ได้ในหลักสูตรนานาชาติของคณะรัฐศาสตร์ (BIR) โดยจะได้ศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างองค์การ ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อองค์การ และกระบวนการจัดการวางแผน การอำนวยการ และการควบคุม เป็นต้น

เมื่อนักศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 และมีผลการเรียนตามเกณฑ์ จะได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในประเทศอินเดีย เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา โดยตัวอย่างมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในประเทศอินเดีย เช่น Chandigarh UniversityAligarh Muslim University เป็นต้น


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว