ยืดสายสีทองเชื่อมบางกอกใหญ่ กูรูแนะหารายได้จากขายโฆษณาล่วงหน้าก่อสร้างโครงการ

26 ก.พ. 2559 | 04:00 น.
กทม.เร่งเชื่อมโยงรถไฟฟ้าสายสีทองกับบีทีเอส-สายสีแดง-สายสีม่วงใต้และสายสีน้ำเงิน เล็งยืดแนวเส้นทางเชื่อมกับสายสีน้ำเงินที่สถานีอิสรภาพย่านบางกอกใหญ่ บิ๊กสจส.เผยยังมีลุ้นเคาะความชัดเจนงบลงทุนกว่า 3.8 พันล้าน คาดจะประเคนให้ไอค่อนสยาม-ร่วมทุนพีพีพีมอบเคที-บีทีเอสรับไปดำเนินการ หรือขายโฆษณาในอนาคตแลกกรณีสร้างความเชื่อมั่นลงทุนกับเอกชน

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานรับฟังความเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสม จัดทำรูปแบบเบื้องต้น และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-เขตคลองสาน-ประชาธิปก) ว่า อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวให้สามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายหลัก คือ สายสีเขียว (บีทีเอส) ที่สถานีกรุงธนบุรี สายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ย่านฝั่งธนบุรีมีการเติบโตของเมืองอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีทองจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางในพื้นที่และเชื่อมต่อระบบการเดินทางด้วยรถ ราง เรือ ได้แก่ เรือด่วนเจ้าพระยา เรือข้ามฟาก และรถโดยสารประจำทางอีกหลายเส้นทาง

โดยปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 คาดว่า จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ หลังจากปิดรับฟังความเห็นแล้วจะเร่งขับเคลื่อนกระบวนการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งการศึกษารูปแบบโครงการ วิธีการลงทุน บางกระบวนการสามารถทำคู่ขนานกันไป โดยจะเร่งสรุปผลการศึกษาเสนอให้ผู้บริหารกทม.พิจารณา อีกทั้งยังจะต้องนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)เพื่อบรรจุเข้าไปไว้ในแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระยะที่ 2 เช่นเดียวกับการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ.) ตลอดจนรูปแบบการลงทุนก่อสร้างตามผลศึกษาเฟสแรกช่วงประมาณ 2 กม. แรกจำนวน 3 สถานี

"จะต้องไปพิจารณารายละเอียดโครงการว่า มีหลายรูปแบบวิธีการลงทุน ทั้งรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี) ว่ารูปแบบใดที่เหมาะสม แม้กระทั่งให้บริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) รับไปดำเนินการ เจ้าภาพหลักขณะนี้กลุ่มไอค่อนสยามและเคทียังแสดงความสนใจสนับสนุน"
ด้าน ดร.คณิต แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการคลัง กล่าวว่า สำหรับการร่วมลงทุนพีพีพีนั้น ส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับการพัฒนาสายหลักมากกว่า ส่วนสายรองจะให้แต่ละท้องถิ่นรับไปดำเนินการหารูปแบบที่เหมาะสม

"สำหรับสายสีทองนี้สามารถใช้รูปแบบที่เอารายได้จากการโฆษณาในอนาคตเอาไปขายแล้วนำเงินทั้งหมดนั้นมาให้กทม.ลงทุน จากนั้นกทม.จะนำไปให้เคทีรับไปดำเนินการรูปแบบการว่าจ้าง หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมได้ โดยรายได้ให้กทม.จะต้องมีสัญญาว่า จะให้งบโฆษณาในเส้นทางนั้นๆ เมื่อรวมงบหลายปีจะเพียงพอที่จะนำไปก่อสร้างโครงการ โดยอาจจะร่วมกับกลุ่มบีทีเอส หรือกลุ่มบีเอ็มเอ็นที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการเดินรถไฟฟ้าก็สามารถทำได้"

ด้านดร.ธาริศร์ อิสระยั่งยืน ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ตามผลการศึกษายังมีแผนขยายเส้นทางเชื่อมไปยังถนนประชาธิปกให้เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่มีสถานีระหว่างสี่แยกบ้านแขก-วงเวียนเล็ก อีกทั้งยังสามารถขยายแนวเส้นทางผ่านถนนอิสรภาพให้ไปบรรจบกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีอิสรภาพ เช่นเดียวกับอีกช่วงหนึ่งสามารถขยายไปถึงพื้นที่ราษฎร์บูรณะ โครงการดังกล่าวนี้มีระยะทางรวม 2.7 กม. จำนวน 4 สถานี แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะทาง 1.8 กม. มี 3 สถานีจากสถานีบีทีเอสกรุงธนบุรี ไปสิ้นสุดที่ด้านหน้ารพ.ตากสินสามารถเชื่อมต่อกับสายสีแดงในจุดดังกล่าวได้ ส่วนระยะที่ 2 ระยะทางประมาณ 1 กม. มี 1 สถานีเริ่มต้นจากด้านหน้ารพ.ตากสินไปสิ้นสุดหน้าวัดอนงคาราม ซึ่งเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ได้อีกด้วย

สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่า มีความเหมาะสมในการลงทุนโดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ EIRR 28.5% มูลค่าการลงทุน 3,845 ล้านบาท แบ่งเป็นระยะที่ 1 มูลค่า 2,512 ล้านบาท ระยะที่ 2 มูลค่า 1,333 ล้านบาท คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561 จะมีผู้ใช้บริการระยะที่ 1 ประมาณ 4.7 หมื่นคน/เที่ยว/วัน และระยะที่ 2 ในปี 2566 ประมาณ 8.1 หมื่นคน/เที่ยว/วัน และในอนาคต (ปี 2579) ประมาณ 7.6 ล้านคน/เที่ยว/วัน สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ 4,000-12,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559