เปลี่ยนมุมมองแง่ลบปัญหาสุขภาพจิตด้วยดิจิตอล

02 ต.ค. 2561 | 09:10 น.
ในประเทศไทย มีคนฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 4,000 คน โดยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือกลุ่มวัยรุ่นไทยจำนวนหนึ่งล้านคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ความนิยมของโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้น กลับสร้างโอกาสใหม่ที่คาดไม่ถึงในการช่วยเหลือบุคคลที่มีความเสี่ยง ความช่วยเหลือในรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมนี้ ทำให้คนไทยในหลากหลายกลุ่มอายุ มีแพลตฟอร์มดิจิตอลที่สามารถหาความช่วยเหลือได้ทันที และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตายไปด้วยในขณะเดียวกัน

Mr. Trakarn Chensy, Chairman ,The Samaritans of Thailand[20766]
นายตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์อาสาสมัครเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย และเป็นหน่วยงานที่ไม่อิงกับศาสนา โดยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า “ที่ผ่านมา การทำงานของสมาคมสะมาริตันส์จะเน้นด้านการเป็นศูนย์ช่วยเหลือ ผ่านการให้คำแนะนำทางโทรศัพท์ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่เราสังเกตว่ากลุ่มวัยรุ่นไทยเลือกที่จะส่งข้อความหรือใช้แอพพลิเคชั่นในการส่งข้อความ แทนการโทรศัพท์หรือขอความช่วยเหลือที่คลินิก ปีเดียวกันนั้นเอง เราจึงเริ่มลองศึกษาการใช้ช่องทางดิจิตอลในการสื่อสาร เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคนทุกคนในประเทศสามารถติดต่อเราได้โดยง่าย เราได้รับข้อความเฉลี่ย 300 ข้อความต่อเดือน โดย Facebook Messenger เป็นช่องทางหนึ่งที่คนใช้ติดต่อสื่อสารกับสมาคมสะมาริตันส์มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z เครื่องมือเช่น Messenger เป็นช่องทางที่ทำให้เราสามารถช่วยเหลือผู้ที่ต้องการได้อย่างทันท่วงที ด้วยวิธีที่สะดวกและไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในงานของเรา”

สมาคมสะมาริตันส์ ประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีอาสาสมัคร 100 คนที่ให้ความช่วยเหลืออย่างมืออาชีพแก่ผู้คนราว 10,000 คนในแต่ละปี ฮอตไลน์ศูนย์ช่วยเหลือในภาษาไทยให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด ในช่วงเวลา 12.00 – 22.00 น. โดยมีแผนที่จะขยายเวลาให้บริการเป็นตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนฮอตไลน์ในภาษาอังกฤษ เปิดตัวไปเมื่อปี พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 สมาคมสะมาริตันส์ ประเทศไทย เปิด Facebook Page เพื่อใช้ในการเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการผ่าน Messenger การสร้างตัวตนในโซเชียลมีเดียทำให้สมาคมสามารถให้ความช่วยเหลือโดยตรงได้ในวงกว้างขึ้นในสังคมไทย ซึ่งยังเป็นสังคมที่มองปัญหาสุขภาพจิตในแง่ลบอยู่มาก คนที่ต้องการความช่วยเหลือจึงรู้สึกสบายใจกว่าที่จะพิมพ์ข้อความ เมื่อเทียบกับการโทรเข้าศูนย์ช่วยเหลือจากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายอเมริกัน (American Foundation for Suicide Prevention) เผยว่า คนที่อยากฆ่าตัวตายจะมีความคิดนี้อยู่เพียงหนึ่งชั่วโมง และจำนวนครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้มักตัดสินใจฆ่าตัวตายในช่วงสิบนาทีสุดท้าย

นาย ตระการได้กล่าวเสริมว่า “ในโลกยุคดิจิตอล ความรวดเร็วสำคัญที่สุด ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Messenger ช่วยให้เราเข้าถึงคนเหล่านี้ได้มากเท่าที่จะทำได้ และคนไทยส่วนมากไม่ค่อยกล้าพูดถึงปัญหาสุขภาพจิต เพราะมองว่าอาการซึมเศร้าหรือความคิดอยากฆ่าตัวตายเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ หรือเป็นอาการผิดปกติทางจิตที่ร้ายแรง ซึ่งความเชื่อนี้ไม่ใช่ความจริงเลย คนส่วนมากที่ฆ่าตัวตาย ทำไปเพราะความสิ้นหวัง ความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม และท้อแท้ เราสามารถช่วยชีวิตคนได้โดยการให้ช่องทางเพื่อระบายความเจ็บปวด และเป็นที่พึ่งทางใจ”

สมาคมสะมาริตันส์ ประเทศไทย ได้พิสูจน์ว่าโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการสร้างการรับรู้แก่สาธารณะ การเริ่มต้นบทสนทนา และยังถือเป็นก้าวที่สำคัญในการลดแนวความคิดเชิงลบที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย
นายตระการกล่าวว่า “เราได้เปิดตัวแคมเปญวิดีโอบน Facebook เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 หลังจากการฆ่าตัวตายของผู้ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง แคมเปญดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว และตั้งแต่นั้นมา หนึ่งในวิดีโอของแคมเปญมียอดการรับชมมากกว่า 1.8 ล้านครั้ง และยังคงถูกแชร์อยู่ในปัจจุบัน เราแทบไม่อยากเชื่อว่าเราสามารถส่งข้อความของเราไปยังผู้คนจำนวนมากมายได้จากแพลตฟอร์มเดียว”

ในปี พ.ศ. 2561 สมาคมสะมาริตันส์ได้กลายเป็นพาร์ทเนอร์อย่างเป็นทางการของ Facebook ในประเทศไทย โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วย Facebook พัฒนาเครื่องมือป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่และความคิดเห็นจากชุมชน เครื่องมือป้องกันการฆ่าตัวตายเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอันต่อเนื่องของ Facebook ในการช่วยสร้างชุมชนที่ปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกแพลตฟอร์ม อีกทั้งยังช่วยเชื่อมต่อผู้คนที่กำลังเป็นทุกข์กับผู้คนที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อีกด้วย

นายตระการกล่าวว่า “การไม่ตัดสินผู้อื่นคือกฎที่สำคัญที่สุดอันดับหนึ่งของสมาคมสะมาริตันส์ และอาสาสมัครของเราทุกคนได้ผ่านการฝึกอบรมที่เคร่งครัด เกี่ยวกับเทคนิคในการรับฟังอย่างตั้งใจและการให้กำลังใจ เราได้ทำงานร่วมกับ Facebook ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา และได้สังเกตเห็นว่าโดยทั่วไปแล้ว โซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนเปิดรับความคิดใหม่ๆ และแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขามากขึ้น การร่วมมือครั้งนี้มีบทบาทที่สำคัญต่อพันธกิจของสมาคมสะมาริตันส์ ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายล้วนเป็นประเด็นที่ผู้คนควรพูดคุยกันอย่างเปิดเผย และโซเชียลมีเดียทำให้เราสามารถทำเช่นนั้นได้ ถ้าหากคุณรู้สึกเศร้า อย่ามองข้ามความรู้สึกนั้นไป คุณสามารถติดต่อสมาคมสะมาริตันส์ทางโทรศัพท์หรือทาง Messenger พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวของคุณ และจำเอาไว้เสมอว่าคุณไม่ได้เผชิญปัญหาอยู่เพียงลำพัง”