อินไซด์สนามข่าว : โละ! กฎหมายท้องถิ่น 7 แสนฉบับใน 6 เดือน

02 ต.ค. 2561 | 10:37 น.
98745 เรื่องใหญ่อีกเรื่องวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ผมไปนั่งฟังในเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

ที่มี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงาน มีการเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย นักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมงาน

เนื้อหาในงานชื่อก็บอกอยู่ว่า “รับฟังความคิดเห็นเรื่องข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร” ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือและรับรู้กับการปฏิวัติประมวลรัษฎากร ที่หมายถึงเงินในกระเป๋าเรา ทั้งจากการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม

แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะปฏิรูปไปในทิศทางไหน แต่ก็ควรเกาะติดเอาไว้
9874 นอกเหนือจากที่มีการถกแถลงกันเรื่องภาษี คือ เรื่อง “การปฏิรูปกฎหมาย” ซึ่งประธานเปิดงาน ดร.กอบศักดิ์ พูดด้วยเสียงนิ่มๆ แต่แก่นแท้เนื้อในสิ่งที่พูดนั้นชวนติดตามยิ่งนัก นั่นคือการ เตรียมยกเลิก/ทบทวนกฎหมายท้องถิ่น และกฎหมายที่ไม่จำเป็นทั้งประเทศ 7 แสนฉบับ

จากการฟังผมจับประเด็นแยกได้ 2 ส่วน ส่วนแรกหมายถึง กฎ ระเบียบ กฎกระทรวง คำสั่งอธิบดี ที่ไม่จำเป็น นำมาทบทวน เพราะทำให้การทำธุรกิจมีหลายขั้นตอน ทำให้เกิดความล่าช้า นำไปสู่การจ่ายใต้โต๊ะ
090861-1927-9-335x503 เพิ่มเพื่อน

ส่วนที่ 2 คือ จะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) เพื่อยกเลิกกฎเกณฑ์ของส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศที่มีกว่า 7 แสนฉบับ ซึ่งหมายถึง กฎหมายที่เป็นกระบวนการ ขั้นตอน การขอใบอนุญาต กฎเกณฑ์นั่นนี่โน่นที่แต่ละส่วนท้องถิ่นมีกฎหมายของตัวเอง

โมเดลที่ฉายภาพให้เห็นคือ จาก 7 แสนฉบับ จะลดให้เหลือ 6,500 ฉบับ ภายในเวลา 6 เดือน ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่เป็นกฎเกณฑ์ของส่วนกลางเท่านั้น แล้วให้ท้องถิ่นนำไปใช้ปฏิบัติเหมือนกันทั้งประเทศ โดยจะ เริ่มนำกฎหมายที่เป็นส่วนของการออกใบอนุญาต 1,000 ฉบับ ขึ้นมาแก้ไขก่อน อย่างเช่น ใบขับขี่ ใบอนุญาตนักบัญชี ใบอนุญาตก่อสร้าง ใบอนุญาตตัดไม้
16455475 - house and law. object isolated over white ดร.กอบศักดิ์ อธิบายว่า กฎกติกาของส่วนท้องถิ่น 7 แสนฉบับนั้น ไม่จำเป็นต้องมีของท้องถิ่นก็ได้ เพราะส่วนกลางก็มีประกาศใช้แล้ว ประชาชนก็จะได้ไม่กังวลว่าจะไปอยู่ท้องถิ่นไหนแล้วจะต้องเจอกฎหมายต่างกัน อีกอย่างเคยเข้าไปคุยกับข้าราชการ เขาก็อยากให้ง่ายขึ้น เพราะกฎเกณฑ์เขียนไว้นานมาก ต้องใช้เอกสารและเวลาจำนวนมาก แต่ที่ต้องทำเพราะมีการตรวจของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หากทำเอกสารไม่ครบก็จะติดคุก จนทำให้มีค่าใช้จ่ายของกระดาษจำนวนมาก

แม้เป็นเรื่องใหญ่ที่ยังไม่เกิด แต่นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนไปในทิศทางนี้ แต่คำถามที่ตามมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รู้เรื่องนี้หรือยัง ถ้ายังจะเปิดช่องให้เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่าข้อจำกัดและวิถี ของแต่ละท้องถิ่นของไทย มีความแตกต่างกันในหลายมิติ

|คอลัมน์ : อินไซด์สนามข่าว
|โดย : จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง
|Twitter : @jeerapong_pra
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 14 ฉบับ 3404 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-29 ก.ย.2561
595959859