ดึงลงทุน1.3หมื่นล. WHA ตั้งเขตส่งเสริมฯกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

07 ต.ค. 2561 | 00:15 น.
ดับบลิวเอชเอ เล็งตั้งเขตส่งเสริมกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในจ.ฉะเชิงเทรา 232 ไร่ ให้เป็นสมาร์ทดิจิตอล ฮับ และอุตสหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รองรับเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ ก่อให้เกิดการลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ได้สิทธิผ่อนผันเสียภาษีอากรได้ภายใน 14 วัน

จากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ได้มีการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายไปแล้ว 21 แห่ง ครอบคลุมการใช้พื้นที่ 86,755 ไร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แห่ง จังหวัดชลบุรี 11 แห่ง และระยอง 9 แห่งซึ่งในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามที่บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ในเครือบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เสนอขอจัดตั้งบริเวณตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่ประมาณ 232 ไร่ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 แห่ง รวมเป็น 22 แห่ง

โดยในที่ประชุมได้ขอให้ผู้ขอจัดตั้งไปดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เช่น รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และนำเสนอกบอ.อีกครั้ง ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบต่อไป

tp11-3406-a

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ครั้งนี้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เช่นการใช้ดิจิตอลแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร และร้านค้าของที่ระลึกตามจังหวัดต่างๆ อันจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนช่วยในการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่มีการขยายตัวและมีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ ในเขตส่งเสริมฯดังกล่าว จะประกอบไปด้วยSmart  Digital  Hub และโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีการคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงปี 2562

090861-1927-9-335x503

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดตั้งเขตส่งเสริมฯดังกล่าว เกิดความรวดเร็ว และไม่ซํ้าซ้อน และตรวจสอบสินค้าที่จัดเก็บในเขตปลอดอากรได้ เพื่อรองรับปริมาณการซื้อขายที่มีมากในแต่ละวันได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ พิธีการศุลกากรของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาควบคู่ด้วย ซึ่งในการประชุม กบอ.ก็ได้เห็นชอบในร่างหลักเกณฑ์ วิธีการดังกล่าว ที่จะให้มีการยกเว้น มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องชำระค่าภาษีอากรที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วนทันที เมื่อพนักงานได้รับและออกเลขที่ใบขนสินค้าให้ เป็นให้ชำระภาษีอากรภายใน 14 วัน ให้กับการประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯ

โดยในส่วนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) จะนำเสนอคณะอนุกรรมการกฎหมายพิจารณา ก่อนที่จะนำเสนอกพอ.ต่อไป

ทั้งนี้ หากเขตส่งเสริมฯดังกล่าวเกิดขึ้นได้ จะส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสเลือกสินค้าและบริการที่ตรงตามความต้องการได้มาก มีทางเลือกด้านราคามากขึ้น และยังเป็นช่องทางให้กิจการ เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถสร้างตลาดได้อย่างกว้างขวาง เพิ่มความเข้มแข็งทางการค้า เป็นต้น

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3406 ระหว่างวันที่ 3 - 6 ตุลาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว