เร่งเครื่องประมูลคลื่น 900 เกมบีบ 'ดีแทค' ควัก 3.8 หมื่นล้าน

04 ต.ค. 2561 | 04:05 น.
ภายหลังมีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ... รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ , นายวิษณุ เครืองาม และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่างออกมายืนยันว่า วันเลือกตั้งยังเป็นกำหนดเดิม 24 ก.พ. 2562

ช่วงจังหวะที่รัฐบาลวางโรดแมปเลือกตั้ง ปรากฏว่า รัฐบาลชุด คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ต่างดันโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ออกมา และหนึ่งในนั้นมีการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) วางโรดแมปเปิดประมูลในวันที่ 20 ต.ค. 2561


เลือกตั้งมาแล้วต้องรีบทำ
ด้าน นายสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิตอลและสื่อใหม่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เป็นช่วงรอยต่อที่โรดแมปการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องรีบดำเนินการ เพราะยังอยู่ในอำนาจ ถ้าวิเคราะห์ตามเศรษฐศาสตร์ทางการเมือง ตอนนี้รัฐบาลต้องการเม็ดเงินเป็นอย่างมาก ถ้าทำอะไรได้ ก็ต้องรีบดำเนินการในทันที


บอร์ดทำตามหน้าที่
อย่างไรก็ตาม การประมูลคลื่น 900 ครั้งนี้ ถือว่า กสทช.ชุดปัจจุบัน ทำตามหน้าที่ เนื่องจากว่า กสทช. ต้องนำเสนอเรื่องเข้าบอร์ดดีอี เพื่อรายงานให้รับทราบ อีกทั้งบอร์ดชุดปัจจุบัน ได้รับอานิสงส์จาก ม.44 ให้มีอำนาจบริหารจัดการ เพราะไม่รู้ว่าบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ จะสรรหาได้เมื่อไหร่

"ช่วงนี้ใน กสทช. ถือว่าเป็นช่วงสุญญากาศ ดังนั้น ตอนนี้ทำอะไรได้ก็ต้องรีบทำ"


MP20-3406-1

3 ค่ายหมดหน้าตัก
นายสิขเรศ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), ทรูมูฟ เอช ในกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีคลื่นเพียงพอให้บริการได้ภายใน 3-5 ปี

"ที่ผ่านมา โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ประมูลคลื่นความถี่ใช้เงินไปแล้วเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่า ใช้เงินหมดหน้าตักกันไปแล้ว"


เวนคืนคลื่นทีวี ทำ 5จี
นอกจากนี้ ได้เคยเสนอไอเดียไปยัง กสทช. เพื่อเวนคืน หรือ รีฟอร์มมิ่งคลื่นความถี่เป็นโมเดลใหม่ โดยเฉพาะคลื่นความถี่โทรทัศน์ สามารถนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5จี ทั้งคลื่นอนาล็อกและดิจิตอล สามารถปลดล็อกให้บริการ 5จี เพราะผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ อีริคสันและโนเกีย ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า คลื่นความถี่ 700 เมกะ เฮิรตซ์ สามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5 จีได้


"ดีแทค" รับ IM
นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นผู้แทนบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เข้ารับเอกสารประมูลคลื่น 900MHz ที่สำนักงาน กสทช. จะจัดประมูล โดยดีแทคจะนำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900MHz ไปศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และดีแทคจะพิจารณานำเสนอคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ขณะที่ นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า การพิจารณางบลงทุนที่สูงถึง 3.79 หมื่นล้านบาท ตามหลักการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ที่ถือหุ้นและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน ดีแทคขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ กสทช. ให้ความยืดหยุ่นสำหรับการยื่นเอกสารการประมูลจนถึงวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งจะทำให้ดีแทคมีเวลาเพียงพอสำหรับปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการ รวมทั้งพิจารณาตามข้อกำหนดต่าง ๆ ขององค์กรเป็นที่เรียบร้อย


เปิดรับถึงวันที่ 8 ต.ค.
ขณะที่ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า วันที่ 1 ต.ค. 2561 สำนักงาน กสทช. เปิดให้รับคำขอใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz เป็นวันแรก โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เข้ารับคำขอเป็นรายแรก ในเวลา 09.00 น. ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะเปิดให้ขอรับใบอนุญาตไปจนถึงวันที่ 8 ต.ค. 2561 และจะเปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 9 ต.ค. 2561


ราคาเริ่มต้น 3.7 หมื่นล้าน
สำหรับราคาประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ กสทช. กำหนดราคาเริ่มต้นที่ 37,988 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางเงินหลักประกันที่ 1,900 ล้านบาท

บทสรุปประมูลคลื่น 900 รอบนี้ เริ่มเห็นความชัดเจนแล้วว่า "ดีแทค" จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เหตุก็เพราะมาตรการคุ้มครองเยียวยาลูกค้าคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จะหมดลงในวันที่ 15 ธ.ค. 2561

ทางเดียวที่ "ดีแทค" จะรักษาลูกค้า 9 หมื่นราย ให้อยู่ในระบบต้องเข้าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะ กสทช. ให้สิทธิ์ใช้คลื่นได้ไปพลาง ๆ ก่อนเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่ต้องชำระค่าคลื่น 900 เช่นเดียวกัน


รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,406 ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว