แล้งกระทบนาข้าวหนัก น้ำเค็มรุกลึกเข้าสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง 80 กม.

26 ก.พ. 2559 | 13:00 น.
ภัยแล้งอาละวาดแล้ว น้ำในแม่น้ำโขงลดฮวบระดับน้ำต่ำสุดในรอบ 90 ปี น้ำเค็มรุกเข้าสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงไกลกว่าทุกปี กระเทือนนาข้าวและชีวิตความเป็นอยู่ชาวเวียดนามแถบกู๋ลองยาง (Cuu Long Giang) ในพื้นที่ 950,500 เฮกตาร์ (ประมาณ 5.9 ล้านไร่)

นายเลแท็งหาย (Le Thanh Hai) รองผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์สภาพน้ำและอุตุนิยมแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์ ว่าน้ำเค็มเริ่มรุกเข้าสู่พื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำโขงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เร็วกว่าปกติ 1 เดือนครึ่ง ทำให้น้ำเค็มเข้ามาใกล้ถึง 50-60 กิโลเมตรและบางพื้นที่เจอน้ำเค็มในความลึก 70-80 กิโลเมตรขณะที่ปกติแล้วจะเข้ามาไกลแค่ 30-40 กิโลเมตร

นายมา ควาง ทรัง (Ma Quang Trung) หัวหน้าฝ่ายเพาะปลูกพืชในพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่าน้ำในแม่น้ำทางใต้ลดต่ำลงมากสุดในรอบ 90 ปี ทำให้นำเค็มเข้าถึงพื้นที่ที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อนในรอบ 90 ปี โดยความแห้งแล้งและน้ำเค็มเกิดขึ้นในช่วงที่เกษตรเริ่มการเพาะปลูกสำหรับฤดูหนาวและใบไม้ผลิ ทำให้คาดว่าจะเกิดความเสียหายอย่างหนัก

ทางการเวียดนามเชื่อว่าพื้นที่ในเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงหรือในชื่อเวียดนามว่ากู๋ลองยาง จะเสียหายเพาะปลูกไม่ได้ 590,500 เฮกตาร์ (ประมาณ 5.94 ล้านไร่) จากพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำโขงทั้งหมด 1.53 เฮกตาร์ (ประมาณ 9.56 ล้านไร่)โดยจังหวัดที่จะโดนผลกระทบหนักคือ ล็องอาน เตี่ยนยาง เกียนยาง เบ๊นแตร จร่าวิญ โห่วยาง ช็อกจรัง และ บักเลียว

นายเหวียนเทียนฟ๊าบ (Nguyen Thien Phap) หัวหน้าฝ่ายควบคุมและป้องกันพายุน้ำท่วมและชลประธานจังหวัดเตี่ยนยางซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวใหญ่สุดของระเทศ กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าว 700 เฮกตาร์ (ประมาณ 4,375 ไร่) ที่เมืองโกคง (Go Cong) เมืองโกคงดง (Go Cong Dong) และเมืองโกคงเท (Go Cong Tay) สูญเสียไปเลยเพราะเจอทั้งแล้งและน้ำเค็ม

เวียดนามนิวส์ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 5 มกราคมปีนี้ 5 หน่วยงานรัฐต้องดึงน้ำที่มีระดับความเค็มน้อยกว่า 1.5 กรัมต่อลิตรจากแม่น้ำเทียน (Tien River) มาช่วงพื้นที่ปลูกข้าว 30,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 187,500 ไร่) ในพื้นที่ภาคตะวันออกของจังหวัด เตี่ยนยาง ให้รอด เนื่องจากข้าวจะทนน้ำกร่อยในความเค็มที่ต่ำกว่า 2 กรัมต่อลิตรได้เท่านั้น โดยถ้าระดับความเค็มในแม่น้ำช่วงลึก ๆ เพิ่มขึ้นอีกข้าวก็คงลำบาก

นอกจากนาข้าวแล้วมีประชาชนกว่า 35,000 คนใน 7,000 ครัวเรือนในจังหวัดเตี่ยนยาง มีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ โดยคณะกรรมการประชาชนท้องถิ่นสั่งการให้มีการติดตั้งก๊อกน้ำประปาสาธารณะ 122 แห่งให้ประชาชนใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดและยังมีการระดมปั๊มน้ำจำนวนมากเพื่อปั๊มน้ำจืดเข้าคลองเพื่อการชลประทานโดยชาวนาเองก็ตั้งปั๊มสูบต่อเข้านาทันที

นอกจากนี้ทางการเวียดนามยังจะใช้วีธี เอาเรือท้องแบนเพื่อขนน้ำจืดจากแม่น้ำในจังหวัดที่น้ำเค็มยังรุกไปไม่ถึงเพื่อขนมาให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559