'ลีสซิ่ง' ขู่ขึ้นดอกเบี้ย! แก้เกมรัฐหั่นค่าต๋งทวงหนี้ 500 เหลือ 50 - รายได้วูบ

02 ต.ค. 2561 | 05:14 น.
021061-1148

ธุรกิจลีสซิ่งพอร์ต 1 ล้านล้านบาท สะเทือน! กรมการปกครองเคาะลดค่าทวงหนี้ จาก 500-2,000 บาท เหลือ 50-200 บาท ... สมาคมเช่าซื้อ-บริษัททวงหนี้โอดรายได้ลด ขู่ขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ โยนกฤษฎีกาชี้ขาด

ตลาดเช่าซื้อวงเงินปล่อยกู้กว่า 1 ล้านล้านบาท ปั่นป่วนอีกระลอก เมื่อคณะกรรมการพิจารณาค่าติดตามทวงถามหนี้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 กรมการปกครองเตรียมออกประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้สินเชื่อธุรกิจเช่าซื้อภายในเดือน ต.ค. นี้ จากปัจจุบัน ที่ใช้การเรียกเก็บอยู่ที่ 500-2,000 บาท เหลือ 50-200 บาท โดยจะลดค่าทวงถามหนี้ที่คิดในอัตราต่อ 2 งวด , 1,500 บาท ต่อ 3 งวด , 2,000 บาท ต่อ 4 งวด แต่อัตราใหม่จะปรับลดลงเหลือ 50 บาท ต่อ 1 งวด , 100 บาท ต่อ 2 งวด , 150 บาท ต่อ 3 งวด และ 200 บาท ต่อ 4 งวด


GP-3405_181002_0017

การลดค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ครั้งนี้ แม้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการ แต่ในทางกลับกันจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่มีสินเชื่อการเช่า หรือ เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อรวม ณ ไตรมาส 2 ปี 2561 จำนวน 1,016,283 ล้านบาท

นายอนุฤทธิ์ วงศ์อุดม รองประธานกรรมการ รักษาการประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ยอมรับกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ค่าติดตามทวงถามหนี้ที่จะประกาศออกมา กระทบกับการดำเนินธุรกิจเช่าซื้ออย่างแน่นอน ทางผู้ประกอบการเช่าซื้อในระบบจะหารือกับบริษัทติดตามทวงถามหนี้ (OA : Outsource Agency) เพื่อจะต่อรองค่าจ้างว่าจะออกมาอย่างไร หรือ อาจจะพิจารณาว่าจะปรับวิธีการติดตามทวงถามหนี้ โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละแห่ง เช่น บางแห่งที่มีพนักงานพร้อม อาจจะดึงงานกลับมาทำภายในองค์กรแทน หรือ ในรายที่ไม่มีพนักงานอาจจะต้องใช้วิธีการเดิมต่อไป


apptp14-3184-b

ขู่ขึ้นดอกเบี้ยเช่าซื้อ
ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า บริษัทติดตามทวงถามหนี้ไม่สามารถจะเรียกเก็บค่าบริการติดตามทวงถามหนี้ได้เช่นเดิม แต่กรณีตัวเลขค่าธรรมเนียมไม่สอดคล้องกับรายจ่ายนั้น อาจจะเริ่มจากการพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายภายใน ขณะเดียวกัน อาจจะเพิ่มรายได้ด้วยการทำธุรกิจอื่น ๆ เช่น การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับมาตรการความเป็นธรรม (Market Conduct) ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงขยายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล จำนำทะเบียนรถ และในที่สุดเชื่อว่า ถ้าภาพรวมธุรกิจรับต้นทุนไม่ไหว จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเช่าซื้ออีกรอบ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในปีนี้และแนวโน้มธุรกิจเช่าซื้อได้รับผลกระทบจากกฎกติกา ภาคเอกชนพยายามปรับตัวตั้งแต่ชั้นการขาย เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่อง Market Conduct และเรื่องสัญญามาตรฐานใหม่ เพื่อมิให้เกิดการร้องเรียนจากผู้ซื้อ โดยเฉพาะอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ปรับลดลงกระทบผู้ประกอบการอย่างมาก

นอกจากนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาตีความข้อสัญญามาตรฐานใหม่ ซึ่งทั้งสมาคมและสถาบันการเงินอื่นเขียนขึ้นสัญญามาตรฐานใหม่สอดคล้องกับประกาศของ สคบ. ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างสำรวจความเห็นเรื่องจำนำทะเบียนรถ เข้าใจว่าจะทยอยทำเป็นเรื่อง ๆ และเรียกผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มเพื่อฟังความเห็น ก่อนจะมีการออกมาตรการอะไร


app6725294627_ffff46337b_b

ยื่นกฤษฎีกาตีความ
นายวีรพล ตัณสถิตย์ ประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย กล่าวว่า ทราบว่าประกาศอัตราค่าติดตามทวงถามหนี้ฉบับใหม่ที่จะออกมา ถูกส่งไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทบทวนร่างประกาศอัตราค่าติดตามทวงถามหนี้อีกครั้ง เนื่องจากกรรมการส่วนหนึ่งไม่ยอมรับอัตราที่ออกมา ดังนั้น บอร์ดจึงเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งจะต้องใช้เวลาและไม่น่าจะทันบังคับใช้ในปีนี้

แหล่งข่าวจากบริษัทติดตามทวงถามหนี้รายหนึ่ง ระบุว่า กำลังประสานกรมการปกครอง เพื่อพิจารณาทบทวนการลดค่าทวงถามหนี้ เพราะการปรับลดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่จะออกมาต่ำจากเกณฑ์มาก ผลกระทบสูงกว่ามาตรฐานสัญญาของ สคบ. ซึ่งรอบนี้ไฟแนนซ์และบริษัทติดตามทวงถามหนี้เสียหายมหาศาล เชื่อว่าในที่สุด ไฟแนนซ์อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้ออีกรอบ ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นก็ต้องเหมาะและสอดคล้องกับค่าใช้จ่าย ต้นทุนบวกส่วนต่างกำไร และสภาพการแข่งขันด้วย ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นบางแห่งทยอยปรับดอกเบี้ยอีกรอบแล้ว เพราะกลไกตลาดบังคับ

 

[caption id="attachment_326638" align="aligncenter" width="503"] ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.[/caption]

คุมสินเชื่อทะเบียนรถยนต์
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. จะขยายขอบเขตธุรกิจของใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคล ให้ครอบคลุมธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน หรือ Car for Cash ซึ่งเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และอยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการถึง 3 ล้านราย และผู้ให้บริการ 100 ราย ยอดสินเชื่อคงค้างกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มี 3 แสนล้านบาท ระหว่างนี้ได้เปิดรับความคิดเห็นจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งกำหนดปิดรับความเห็นภายในวันที่ 12 ต.ค. 2561 และจะประกาศใช้เกณฑ์ภายในต้นเดือน พ.ย. ต่อไป

นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. .... เพื่อกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้มีมาตรฐาน เนื่องจากการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และแฟกตอริงในปัจจุบัน เป็นไปโดยขาดกรอบกติกาที่เป็นมาตรฐานชัดเจน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,405 วันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ต้อนลีสซิ่งคุมดอกโหด! คลังเร่งคลอด ก.ม.คุมนายทุนโขกค่าธรรมเนียม-เบี้ยปรับ
ศก.รากหญ้าฟื้น ซัมมิทลุยลีสซิ่ง


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว