โคคา-โคลาผนึกส.เครื่องดื่มไทย

03 ต.ค. 2561 | 09:55 น.
ปลดล็อกกฎกระทรวง ห้ามใช้ rPET บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม

โคคา-โคลา ไทย จับมือสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และอินโดรามา เวนเจอร์ส เร่งแก้กฎกระทรวงห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เผยหากทำได้ 100% สร้างมูลค่าเพิ่มพลาสติก ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และขยะจากขวด PET อินโดรามายัน ขวด PET รีไซเคิล มีมูลค่ามหาศาล ผลิตเป็นสิ่งของได้มากมาย และยังรีไซเคิล ซํ้าได้ตลอด

8653128725487

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์  “World Without Waste” นอกจากแผนงานปฏิบัติภายในองค์กร บริษัท ยังได้ร่วมมือกับ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัทปิโตรเคมีฯ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ให้กับโคคา-โคลา เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic)

นอกจากนี้ ยังพยายามผลักดันให้มีการยกเลิก หรือปลดล็อก  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก โดยปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดมากกว่า 1.85 แสนตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม

นายนันทิวัต กล่าวว่า จะพยายามผลักดันการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวให้เร็วที่สุด ประมาณเดือนตุลาคม 2561 จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งการผลิตขวดรีไซเคิล อาทิ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์สฯ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย

8652037145160

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า สมาคมฯ พร้อมเป็นตัวกลางร่วมผลักดันการปลดล็อกกฎกระทรวงดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิล มาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับ
เครื่องดื่มและอาหารได้อย่างปลอดภัย ซึ่งในหลายประเทศก็นำบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้กันนานแล้ว

ที่ผ่านมา สมาคมฯ เพิ่งจับมือกับภาครัฐ ประสานให้สมาชิกที่มีอยู่ 44 ราย เลิกใช้พลาสติกหุมฝาขวด หรือเคปซีล ได้สำเร็จตั้งแต่ 1 เมษายน 2561  ซึ่งขณะนี้กว่า 80% เลิกใช้เคปซีลแล้ว ทำให้สามารถลดการใช้พลาสติกได้ถึง 580 ล้านตันต่อปี และหากสามารถรณรงค์การใช้ขวด rPET ได้สำเร็จ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก นอกจากช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังเกิดการสร้างรายได้ และลดต้นทุนอีกมหาศาล ซึ่งสมาชิกทั้งหมดพร้อมร่วมมือ และขั้นตอนต่อไปจะรณรงค์เรื่องการเลิกใช้หลอดพลาสติก

นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายการสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล (สำนักงานนใหญ่) บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติกรีไซเคิล มีความทันสมัย และสะอาด ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งบริษัท เริ่มดำเนินการโรงงานรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2557ที่ผ่านมา มีการส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับการผลิตขวดไปจำหน่ายในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งที่ออสเตรเลีย
บริษัท ก็เป็นผู้ผลิตขวดโค้กจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลด้วย

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,405 วันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว