ข้าพระบาททาสประชาชน : ผู้นำประเทศยุคใหม่ กับนายกฯไทยคนต่อไป

01 ต.ค. 2561 | 13:35 น.
นายก
พรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล คงเป็นพรรคการเมืองใหม่ๆ ค่อนข้างแน่นอน

จะเชื่อหรือไม่ก็ต้องรับฟังไว้ประกอบการพิจารณา เพราะจากผลสำรวจของนิด้าโพลที่สำรวจครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 เรื่องความคิดเห็นของประชาชนว่า “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่4)” ซึ่งสำรวจจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,251 ตัวอย่าง รวมถึงสำรวจสอบถามถึงเรื่องพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ผลสำรวจด้านบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี 10 อันดับแรกพบว่าส่วนใหญ่ อันดับ 1 จำนวน 29.66% ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) อันดับ 2 จำนวน 17.51% เป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 จำนวน 13.83% เป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) อันดับ 4 จำนวน 10.71% เป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์)

อันดับ 5 จำนวน 5.28% เป็นพล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) และ พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ (รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 7 จำนวน 4.64% เป็นนายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) อันดับ 8 จำนวน 1.92% เป็น ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล (หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย)

อันดับ 9 จำนวน 1.76% เป็นนายวิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) อันดับ 10 จำนวน 1.52% เป็น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชาติ) รองลงไปจากนี้ยังมีชื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในสัดส่วนเท่ากันติดโผเข้ามาด้วย
nida1 เมื่อถามถึงพรรคการเมือง ที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 61.63% ระบุว่า “พรรคการเมืองใหม่ๆ” เพราะอยากเห็นคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาบริหารพัฒนาประเทศไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนพรรคการเมืองเก่า พบว่ามีเพียง 37.49% ที่ประชาชนยังชื่นชอบหรืออยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาล โดยให้เหตุผลด้านความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ที่เคยเห็นผลงานและคุ้นเคย

แต่เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล 10 อันดับแรกพบว่าส่วนใหญ่ จำนวน 28.78% ระบุเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 จำนวน 20.62% เป็นพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 3 จำนวน 19.58% เป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 4 จำนวน 15.51% เป็นพรรคอนาคตใหม่ อันดับ 5 จำนวน 4.16% เป็นพรรคเสรีรวมไทย

อันดับ 6 จำนวน 2.56% เป็นพรรคประชาชาติ อันดับ 7 จำนวน 2.40% เป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย อันดับ 8 จำนวน 1.44% เป็นพรรคพลังชาติไทย อันดับ 9 จำนวน 1.12% เป็นพรรคชาติไทยพัฒนา อันดับ 10 จำนวน 0.96% เป็นพรรคประชาชนปฏิรูป
090861-1927-9-335x503-8-335x503 เพิ่มเพื่อน

จากผลสำรวจดังกล่าว ไม่ว่าเราท่านทั้งหลายจะเชื่อหรือไม่ จะมีข้อสังเกตข้อสงสัยในหลายประการอย่างไร การเมืองไทยและผู้นำของไทย คงวนเวียนหนีไม่พ้นชื่อบุคคลและพรรคการเมืองดังผลสำรวจได้ระบุออกมา พรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล คงเป็นพรรคการเมืองใหม่ๆ ค่อนข้างแน่นอน แต่ไม่น่าใช่พรรคอนาคตใหม่ เพราะชื่อ “พรรคพลังประชารัฐ” น่าจะมาแรงกว่าทุกพรรค แม้จะเพิ่งเปิดตัวแต่ประชาชนต่างรู้ไปทั่วประเทศว่า เป็นพรรคที่หนุนนายกฯลุงตู่

ส่วนบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ คงมาจาก 3 ทางคือ 1. นายทหารหัวหน้า คสช./นายกฯ ในปัจจุบัน 2.นักการเมืองเก่าหัวหน้าพรรคการเมือง 3. นักการเมืองหน้าใหม่หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เท่านั้น โอกาสที่จะเป็นบุคคลภายนอก โดยไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค น่าจะถูกปิดโอกาสไป แม้มีช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ก็คงเกิดขึ้นยาก
พลเอกประยุทธ์-จันทร์โอชา-นายกรัฐมนตรี-ประชุมผู้นำ-APEC-18-19-พ.ย-2558 ซึ่งเมื่อดูตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้นคงเขียนชื่อแปะไว้ข้างฝาได้เลยว่า นายกฯ คนต่อไปคงเป็นชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แน่นอนหากไม่เกิดฟ้าผ่าเสียก่อน เพราะบัดนี้ท่านก็แย้มปากบอกแล้วว่า ท่านสนใจการเมืองเพราะรักและห่วงใยประเทศชาติ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วว่า ท่านเอาแน่ นี่คือเมืองไทยครับ

ขณะที่เทรนด์ใหม่ของโลกในยุโรป แคนาดา และหลายประเทศ ได้เกิดผู้นำหนุ่มรุ่นเยาว์ก้าวขึ้นสู่อำนาจ เขย่าโลกการเมืองในหลายประเทศ อาทิ นายเซบาสเตียน คูร์ซ (Sebastian Kurz) “ฉายาหนุ่มน้อยมหัศจรรย์” (Wunderwuzzi) หัวหน้าพรรคของประชาชน (Peaple’s Party) ได้ขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่ของประเทศออสเตรีย โดยมีอายุเพียง 31 ปี หรือที่ประเทศฝรั่งเศส นายเอ็มมานูเอล ฌ็อง-มีแชล เฟรเดริก มาครง (Emmanuel Jean-Michel Frederic Macron) ที่มีอายุเพียง 39 ปี ก็ได้รับเลือกจากประชาชนชาวฝรั่งเศสให้เป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส เป็นประมุขแห่งรัฐฝรั่งเศสที่มีอายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่สมัยนโปเลียนเป็นต้นมา

ขณะที่ประเทศแคนาดา จัสติน พิเอร์ เจมส์ ทรูโด (Justin Pierre James Trudeau) ชนะการเลือกตั้งในปี 2015 ทำให้เขาขึ้นเป็นนายกฯ ที่มีอายุเพียง 45 ปี ส่วนไทยจะไว้ใจเด็กแว้น คงไม่ไหว ไปไม่รอดแน่

ประเทศไทยในยุคปัจจุบัน รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนี้ก็มีอายุ 64 ปี ส่วนคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีสมาชิก 250 คน มีอายุเฉลี่ยที่ 64 ปี คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 75% ของทั้งสภา เป็นผู้ชาย 238 คน คิดเป็น 95% โดยสัดส่วนเช่นนี้ ก็ดูน่าจะไม่เหมาะสมกับโลกยุคเปลี่ยนแปลง

การเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึง เป็นการเลือกคนเป็นนายกฯ ไปพร้อมๆ กันเพราะทุกพรรค ต้องเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯ ให้ประชาชนทราบ ก่อนใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง จึงอยู่ที่ประชาชนเจ้าของประเทศ จะฝากชีวิตและอนาคตของบ้านเมืองให้อยู่ในกำมือใคร จะไว้วางใจใครมากุมยังเหียนประเทศ จะเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า สิทธิและอำนาจตัดสินใจอยู่ในมือท่าน

ลักษณะที่เหมาะสมกับประเทศ สังคมและวัฒนธรรมไทย ในมุมมองผู้เขียน ควรเป็นการผสมผสานระหว่างผู้อาวุโส ที่มี ประสบการณ์ กับบุคคลในวัยกลาง คน และคนรุ่นใหม่ น่าจะเหมาะสมยิ่งกว่า หากทั้ง 3 พลังผสมผสานการทำงานเพื่อบ้านเมืองด้วยความสามัคคี ปรองดองกัน ชาติคงพ้นภัย ประเทศไทยคงเจริญไม่แพ้ชาติใดในโลก

| คอลัมน์ : ข้าพระบาททาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3404 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-29 ก.ย.2561
595959859