ชง”ประยุทธ์”เคาะ5โครงการEEC เดินหน้าออกทีโออาร์ได้ต.ค.นี้

01 ต.ค. 2561 | 11:54 น.
 

“อีอีซี” ชง 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานให้”ประยุทธ์”เคาะ พร้อมผุดโครงการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลลงทุน 1.8 หมื่นล้าน 5 ปี ช่วย 3 จังหวัด 1 พัน ตร.กม. เน็ตเร็วกว่า 4 G 100 เท่า ลดค่าบริการ loT 30% รองรับ 1 ล้านอุปกรณ์ต่อ 1 ตร.กม.ยันโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา ศูนย์MRO ท่าเรือมาบตาดุพเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะออก ทีโออาร์ภายในเดือนต.ค.นี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมาตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้พิจารณาโครงการที่จะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้  โดยจะมีเรื่องหลักๆ 5 เรื่อง โดยจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 4 เรื่อง ได้แก่ 1โครงการเมืองการบินภาคตะวันออกสนามบินอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภาหรือMRO โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี โดยทั้ง 5 โครงการนี้ หลังผ่านการพิจารณาของ กพอ. แล้ว จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 16 ต.ค.2561

ทั้งนี้ ในการประชุมกอบ.ครั้งได้ มีการวาระการพิจารณาโครงการแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เป็นโครงการใหม่ที่จะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งที่ประชุม กบอ. รับทราบข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับ อีอีซี ภายใต้เงินลงทุนทั้งิส้น 17,913 ล้านบาท ประกอบด้วย 8 แผนงาน ได้แก่ 1. การพัฒเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และสถาบัน IoT 2. การพัฒนา Advanced Big Data, Cloud and Data Center (ABCD) 3. การพัฒนาศูนย์กระจายพัสดุภัณฑ์อัตโนมัติ 4. loT Smart City 5. การสร้างศูนย์ทดสอบ 5G และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นำร่อง 6. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน loT ในพื้นที่ อีอีซี 7. โครงสร้างพื้นฐานท่อร้อยสาย และเคเบิลใยแก้วนำแสง และ8. ASEAN Digital Hub

“ทั้ง 8 แผนงานนี้ ส่วนใหญ่ได้รับงบประมาณแล้ว หรือเป็นงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เหลืออีกเพียง 813 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบระยะยาว 5 ปี ที่จะต้องเสนอของบประมาณจากรัฐบาล คาดว่าจะออก ทีโออาร์ ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน  2561 และจะเซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้น จะทำให้พื้นที่นี้มีโครงสร้างดิจิทัลดีที่สุดในประเทศไทย”

โดยเฉพาะโครงการ loT Smart City จะครองคลุมพื้นที่กว่า 1 พันตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 1 ล้านคน ครองคลุมโรงเรียนและสถาบันการศึกษา 150 แห่ง รวมทั้งส่วนราชการ สนามบิน ท่าเรือ และภาคธุรกิจต่างๆ จะช่วยลดค่าบริการ loT ลดลง 30% ความเร็วรับส่งข้อมูลสูงสุด 20 Gbps หรือเร็วกว่า 4G กว่า 100 เท่า ค่าบริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศลดลง 10%  รองรับอุปกรณ์ 1 ล้านอุปกรณ์ ต่อตารางกิโลเมตร ต้นทุนโครงสร้างโทรคมนาคมลดลง 8.5 พัน – 1.3 หมื่นล้านบาท ดึงดูดบริษัทดิจิทัลระดับโลกเข้ามาลงทุน ลดอาชญากรรม และเตือนภัยดิน ฟ้า อากาศ มลพิษ และขยะ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับ 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะเสนอเข้าที่ประชุม กพอ. ได้แก่ 1. โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา นอกจากทางวิ่งที่ 2 และทางขับที่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุน ยังมีอีก 6 กิจกรรมที่เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาล ได้แก่ 1. อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 2. ศูนย์ธุรกิจการค้า และการขนส่งภาคพื้น 3. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 4. เขตประกอบการเสรี 5. ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และ6. ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ รวมทั้งกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็น การตั้งหอบังคับการบิน และระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ โดยทั้งหมดนี้จะออก ทีโออาร์ ได้ภายในเดือนต.ค.2561 ได้เอกชนผู้ร่วมลงทุนภายในเดือนก.พ.2562 และจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2566

2.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ทันสมัยเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอากาศยานของประเทศ ซึ่งจะประกอบด้วย SMART HANGAR รองรับเครื่องบินได้ถึง 7 ลำ และรองรับเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ โดยจะมีทั้งการบริการซ่อมใหญ่อากาศยาน การซ่อมบำรุงระดับลานจอด การพ่นสีอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งจะออกทีโออาร์ได้ภายในเดือนต.ค. 2561 ได้เอกชนผู้ร่วมลงทุนภายใน ธ.ค.2561 และเปิดดำเนินการในช่วงกลางปี 2565

3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการขยายท่าเรือให้เป็นท่าเรือระดับภูมิภาค เพิ่มความสามารถรองรับตู้สินค้าจาก 10.8 ล้าน TEU (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) เพิ่มเป็น 18 ล้าน TEU ซึ่งหากไม่มีโครงการนี้ท่าเรือแหลมฉบังจะเต็มภายใน 4-5 ปี ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยท่าเรือแห่งนี้จะใช้ระบบอัตโนมัติในการขนส่งตู้จากเรือ มาบนท่าเรือ และจากท่าเรือไปขึ้นรถขนตู้คอนเทนเนอร์ และรถไฟ ทำให้ลดการใช้แรงงานคนควบคุมได้มาก คาดว่าโครงการนี้จะออกทีโออาร์ได้ภายในเดือน ต.ค.2561 ได้เอกชนผู้ร่วมลงทุนภายในเดือนก.พ.2562 และเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2566

4.โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นการขยายท่าเรือมาบตาพุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ 10.8 ล้านตัน/ปี และสินค้าเหลว 4 ล้านตัน/ปี โครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยคาดว่าจะออกทีโอการ์ได้ภายในเดือนต.ค.2561 ได้เอกชนผู้ร่วมลงทุนภายในเดือนม.ค.2562 และเปิดดำเนินงานได้ในช่วงต้นปี 2568

สำหรับการลงทุนทั้งหมดในอีอีซีจะมีมูลค่ารวม 1.7 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนภาครัฐประมาณ 20% โดยในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 โครงการ จะมีมูลค่าลงทุนประมาณ 6.5 แสนล้านบาท โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนประมาณ 30% หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท