พัฒนาชุมชนอุดรฯเปิด3 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีอุดรธานี

01 ต.ค. 2561 | 11:47 น.
กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้าเปิดตัว 3 ชุมชนท่องเที่ยว “OTOP นวัตวิถี” ตำบลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี ชูวิถีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง เชิญชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสวิถีท้องถิ่น สร้างเสริมรายได้ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนแก่ชุมชน

นางสุภาวดี ศรีสุขวัฒน์ นายอำเภอทุ่งฝน เป็นประธานเปิดตัวโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี อำเภอทุ่งฝน โดยมีนางสาวชนกพร โพธิสาร ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน ณ บริเวณหนองน้ำแล้ง บ้านทุ่งฝน หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

udo4

นางสุภาวดี ศรีสุขวัฒน์ นายอำเภอทุ่งฝน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน (พช.)  เดินหน้าเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อมุ่งพัฒนาสร้างสรรค์วิถีชุมชนที่มีอยู่ทุกพื้นที่ทั่วไทย เพื่อค้นหาชุมชนที่มีเอกลักษณ์ แหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมท่องเที่ยว และวิถีชุมชนที่น่าสนใจ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม มุ่งสร้างรายได้ ความเจริญ และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

udo3

อำเภอทุ่งฝน มีชุมชนที่เชิญชวนให้มาสัมผัสวิถีถิ่น 3 ชุมชน ได้แก่ บ้านทุ่งฝน หมู่ 1 ซึ่งมีสัญลักษณ์ประจำจุดถ่ายภาพเป็นดอกบัวหลวง และนกเป็ดน้ำ เพื่อสื่อถึงหนองน้ำแล้ง แหล่งน้ำที่ใช้ในทำการเกษตร แหล่งประมง ยังเป็นสถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสวนสาธารณะของชุมชนและผู้มาเยือน มีเนื้อที่กว่า 900 ไร่ โดยในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม จะมีดอกบัวหลวงขึ้นเต็มหนองสวยงาม และในช่วงหน้าหนาวจะมีฝูงนกเป็ดน้ำ อพยพมาอาศัยยังหนองน้ำแห่งนี้เป็นจำนวนมาก บ้านโนนสะอาด มีสัญลักษณ์ประจำจุดถ่ายภาพเป็นกังหันวิดน้ำ ที่สื่อถึงเรื่องราวในอดีตของชาวชุมชนที่นิยมทำกังหันลม หรือ “บักปิ่น” เป็นของเล่นให้เด็กๆ เล่น และได้วิ่งออกกำลังกาย

udo2

ซึ่งเมื่อเด็กๆ ได้เล่นกังหันลมแล้ว ก็จะสนุกสนาน เพลิดเพลิน ไม่รบกวนเวลาทำงานของพ่อแม่ จึงเลือกกังหันลมมาเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงความผูกพัน วิถีชุมชน และครอบครัวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บ้านทุ่งฝน หมู่ 8 มีสัญลักษณ์ประจำจุดถ่ายภาพ คือ ต้นกล้วยบังสุกุล เพื่อสื่อถึงเรื่องราวของชุมชนคุณธรรม ที่ชาวชุมชนจะร่วมกันสืบสานประเพณีแห่ต้นกล้วยน้อยบังสุกุล โดยนำต้นกล้วยน้อยที่ประดับด้วยขี้ผึ้ง ดอกไม้ ธูป-เทียน มาเวียนรอบพระธาตุโพธิ์ศรี 3 รอบ แล้วนำมาวางไว้ เพื่อเป็นการสักการะ และแก้บนต่อองค์หลวงพ่อทองคำ ในงานสำคัญประจำปี ซึ่งองค์หลวงพ่อทองคำ คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งกลุ่มผู้บุกเบิกหมู่บ้านชาวลาวที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม อัญเชิญจากหอพระแก้วนครเวียงจันทน์ครั้งอพยพมา ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ชุมชนที่ชาวบ้านทุ่งฝนเคารพนับถือ ศรัทธาเลื่อมใสสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

udo1

e-book-1-503x62-7