โครงข่ายรถไฟฟ้า ตอบโจทย์การเดินทาง แต่ราคาไม่ใช่ อนาคต(ยิ่ง) แพง

01 ต.ค. 2561 | 07:09 น.
แม้วันนี้กรุงเทพมหานครจะมีรถไฟฟ้าเพียง 2 เส้นทาง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว ยิ่งปัญหาการจราจรนับวันมีแต่จะหนาแน่น ความเร็วรถในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเฉลี่ยที่ประมาณ 12 กิโลเมตร การที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข.เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 1 ควบคู่กับพัฒนาแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 (M-MAP 2) เพื่อการเดินทางในอนาคต ถือเป็นเรื่องที่ดี


[caption id="attachment_326236" align="aligncenter" width="503"] ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ[/caption]

ล่าสุดนั้นนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เผยว่าปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 ซึ่งจากการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ย่านธุรกิจ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รถไฟฟ้า1

ร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น

ขณะที่การศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) ที่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism : MLIT) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทดังกล่าวเพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.            เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการคมนาคมขนส่งของระบบขนส่งมวลชนทางรางในปัจจุบันให้สูงขึ้น เช่น การเพิ่มขบวนรถไฟฟ้าและความถี่ในการให้บริการ พร้อมทั้งขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการตามแผนระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 (M-MAP) อย่างครบถ้วน มีการเพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่ยังไม่มีโครงข่ายเข้าถึง และการส่งเสริมให้มีรูปแบบการขนส่งสาธารณะต่อเนื่องหลายรูปแบบ

2.            เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ที่มีความต้องการการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง ส่งเสริมให้มีการใช้โครงข่ายรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในปัจจุบัน ให้มีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีสถานีขนส่งสำหรับเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีโดยรอบ

3.            เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี โดยการพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทาง (Inter-modal facilities) เพื่อให้มีความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ พร้อมกับบูรณาการการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี

4.            เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางได้อย่างสะดวก มีนโยบายอัตราค่าโดยสารที่ดึงดูดผู้ใช้บริการและเงินสวัสดิการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจากนายจ้างประจำ และนโยบายด้านความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมไปถึงความรวดเร็วในการเดินทาง และมีมาตรการในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาเมื่อประสบเหตุฉุกเฉินต่างๆ

5.            เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global gateways) โดยการจัดเตรียมแนวเส้นทางที่เหมาะสมในการเดินทางเข้าสู่สนามบิน เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางเข้าสู่สนามบิน เช่น จัดให้มีรถไฟ ขบวนด่วนพิเศษ เป็นต้น

หนุนรัฐ-เอกชนส่งเสริมในองค์กร

สำหรับการกำหนดนโยบายและมาตรการ เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้นนั้น จะต้องมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นประโยชน์และความสำคัญ เช่น การให้ใบรับรองแก่บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ให้ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในโรงเรียน มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การไม่ส่งเสริมให้ขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตรจากที่ทำงาน และให้มีการลดค่าโดยสารในช่วงเวลาไม่เร่งด่วนหรือเมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่น การใช้บริการรถไฟฟ้าของเด็กนักเรียน เมื่อเด็กนักเรียนใช้บริการรถไฟฟ้าด้วยบัตรรถไฟฟ้าระบบจะส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ ตลอดจนมีการกำหนดมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยการจำกัดที่จอดรถและเพิ่มค่าจอดรถในย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์ (Car free day) และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์ เป็นต้น

คงต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่าเมื่อการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) ดำเนินการแล้วเสร็จ จะใช้ในการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย ลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เกิดการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาการจราจร ตลอดจนจะเป็นระบบคมนาคมหลักที่สามารถรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างที่คาดหวังไว้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นภาระด้านต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นมากกว่า

ที่สำคัญเมื่อโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะมีการปรับราคาลดลงเพื่อดึงดูดประชาชนให้หันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน แทนรถยนต์ส่วนตัว  หรือจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งที่ทุกวันนี้ถือว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงไป-กลับเป็นหลักร้อย คนส่วนใหญ่ที่อยู่ย่านปริมณฑลจึงยังใช้บริการรถตู้สาธารณะหรือขับรถยนต์ต่อไป ที่สุดรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจึงยังไม่บรรลุเป้าประสงค์ ลดการใช้รถยนต์ ลดปัญหาจราจรหนาแน่นได้