สทนช. เตือน! 'ภาคใต้' จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น

01 ต.ค. 2561 | 06:42 น.
ศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังเฝ้าระวังปริมาณน้ำในเขื่อนน้ำมากและสถานการณ์น้ำในลำน้ำต่าง ๆ ชี้! สถานการณ์ภาพรวมยังไม่น่าห่วง เตือน 29 จังหวัด เสี่ยงฝนตกหนักวันนี้ (1 ต.ค. 2561) พร้อมคาดการณ์แนวโน้มสัปดาห์นี้ฝนตอนบนของประเทศจะเริ่มลดลง ส่วนภาคใต้มีแนวโน้มฝนตกต่อเนื่อง


S__8978435

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 1 ต.ค. 2561 ว่า สภาพอากาศและคาดการณ์ฝนวันนี้ (1 ต.ค. 2561) บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ขณะที่ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ซึ่งคาดการณ์ว่า วันนี้ (1 ต.ค. 2561) มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากใน 29 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ภาคกลาง ได้แก่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ภาคตะวันตก ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และภาคตะวันออก ได้แก่ จ.สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

"ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่า มีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ จ.อุตรดิตถ์ 137 มม. ลำพูน 95 มม. กำแพงเพชร 86 มม. แพร่ 85 มม. สุโขทัย 76 มม. เชียงราย 74 มม. เชียงใหม่ 65 มม. พิษณุโลก 64 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี 82 มม. นครราชสีมา 80 มม. และภาคตะวันออก จ.สระแก้ว 89 มม. นครนายก 68 มม. ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 2-6 ต.ค. 61 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก จะส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง สำหรับลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ซึ่งศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง" นายสำเริง กล่าว


breakwater-379252_1920

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวัง ปัจจุบันพบว่า อ่างฯ ขนาดใหญ่ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 95 ของความจุ ยังคงมี 1 แห่ง คือ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 515 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99% ขณะที่ อ่างฯ ขนาดใหญ่ ทางภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ ที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 90 ของความจุ มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 210 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 94% 2.เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ปริมาณน้ำ 276 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93% 3.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 653 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 92% 4. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 16,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% และ 5. เขื่อนประแสร์ จ.ระยอง ปริมาณน้ำ 271 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91%

ขณะที่ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำและลำน้ำที่สำคัญ ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ ไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่มีระดับน้ำปานกลางถึงน้ำมาก มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในแม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร แนวโน้มลดลง คลองน้ำโมง จ.หนองบัวลำภู ส่วนภาคตะวันออก มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำในแม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก


เขื่อนลำแชะ

นายสำเริง กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า สำหรับความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยนั้น ล่าสุด กรมชลประทานได้รายงานมายังศูนย์เฉพาะกิจฯ ว่า ได้แจ้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรปรับแผนปฎิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มน้ำในเขื่อนน้ำน้อยกว่า 30% และน้อยกว่า 60% ตามที่ สทนช. ให้พิจารณาอ่างฯ ที่มีผลกระทบกับการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นลำดับแรกก่อน


S__7905344-335x503-1

สอดคล้อง นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามพื้นที่ความต้องการขอรับบริการฝน พบว่าในหลายจังหวัดยังคงมีฝนตกไม่ทั่วถึง ทำให้พื้นที่การเกษตรยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ซึ่งมีการร้องขอฝน ได้แก่ จ.เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ลำพูน ตาก ลำปาง แพร่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ และจ.สระแก้ว โดยมีชนิดของพืชที่ต้องการน้ำทางภาคเหนือ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิลง มันสำปะหลัง ส้มเขียวหวาน ภาคกลาง ได้แก่ อ้อย ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย ภาคตะวันออก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง สำหรับการปฏิบัติภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในช่วงนี้ยังคงเร่งปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่าง ๆ จำนวน 15 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำทั้งสิ้นจำนวน 150 ลบ.ม.


119973307

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ โดยจากพื้นที่เป้าหมายเดิม จำนวน 15 แห่ง เป็นจำนวน 104 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้น จึงได้สั่งการให้นักวิทยาศาสตร์ นักบินฝนหลวง และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงโดยได้นำเครื่องบินชนิด CASA จำนวน 4 ลำ มาประจำการเพิ่ม ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีช่วงจำนวนระยะเวลาการปฏิบัติน้อย ประกอบกับสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน โอกาสที่จะปฏิบัติการสำเร็จตามเป้าหมายเป็นไปได้ยาก จึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ และติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยปัจจัยดังกล่าวเป็นความท้าทายของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอย่างมาก เพื่อดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ในการช่วยเหลือเกษตรกรและพื้นที่ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด


S__29622275

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภูมิภาคต่าง ๆ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการประสานให้เข้าปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเติมน้ำให้เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขอให้เกษตรกรและประชาชน มั่นใจว่ากรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ระดมเครื่องมือ และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่ที่ร้องขออย่างทั่วถึง โดยจะปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องทุกวันหากมีสภาพอากาศที่เหมาะสม


090861-1927-9-335x503-8-335x503