เห่อ 'พร้อมเพย์' ยอดใช้พุ่ง 6 เท่า! ทะลุ 3 ล้านล้าน

30 ก.ย. 2561 | 05:01 น.
300961-1150

ธปท. เผย ยอดพร้อมเพย์โตพุ่ง 6 เท่า! มิ.ย. เดือนเดียวยอดทะลุ 4.4 แสนล้าน เด้งรับแบงก์ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม ดันยอดโอนข้ามธนาคารโตพรวด 239% กดโอนเงินผ่านสาขา-เอทีเอ็มร่วงลดลงเฉลี่ย 30% ชี้! สัดส่วนทำธุรกรรมผ่านโมบายแตะ 94% ... ‘กสิกรไทย’ คาดยอดกดเงินสดผ่านสาขา-เอทีเอ็ม ทั้งปีลด 20%

นางสาวอณิยา ฉิมน้อย ผู้วิเคราะห์ ทีมวิเคราะห์ระบบการชำระเงิน ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากธนาคารพาณิชย์ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ยอดธุรกรรมการโอนเงินผ่านระบบการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (พร้อมเพย์) ในไตรมาสที่ 2 มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก หรือ เติบโตเพิ่มขึ้น 4% โดยการโอนเงินข้ามธนาคารมีอัตราการเติบโตสูงถึง 239%


GP-3404_180930_0001

ขณะที่ ผู้ใช้โมบายแบงกิ้ง ณ ไตรมาสที่ 2 มียอดผู้ใช้สูงถึง 38 ล้านบัญชี คิดเป็นการเติบโต 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดการโอนเงินผ่านระบบโมบายแบงกิ้งสูงถึง 94% และเป็นการโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มและสาขาธนาคารเพียง 6% ลดลงประมาณ 29.2% ขณะที่ ธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารลดลงประมาณ 22.5% โดยยอดธุรกรรมการโอนเงินรวมทั้ง 2 ช่องทาง มีอัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยราว 30% และคาดว่า ในอนาคตสัดส่วนจะลดลงต่อเนื่องตามพฤติกรรมการใช้งานของประชาชน

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการทำธุรกรรมที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของพร้อมเพย์และการยกเลิกค่าธรรมเนียมของธนาคาร ธปท. ได้มีการกำชับธนาคารพาณิชย์ให้ติดตามดูแลระบบอย่างใกล้ชิด และธนาคารพาณิชย์เองได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงไม่ต้องกังวล และการขยับเพดานวงเงินการโอนไปที่ 7 แสนบาทต่อธุรกรรม จะเป็นการช่วยลดปริมาณธุรกรรม ไม่ได้เป็นการเพิ่มจำนวนธุรกรรมแต่อย่างใด เพราะประชาชน ภาคธุรกิจ และเอสเอ็มอี สามารถโอนในวงเงินสูงขึ้นในธุรกรรมเดียว จากเดิมที่จะต้องทำธุรกรรมหลายรายการ

"แม้ว่าแบงก์จะไม่เก็บค่าธรรมเนียม แต่เราจะเห็นว่า การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ก็ยังได้รับความนิยมและเติบโตสูง เพราะไม่ต้องจำเลขบัญชี และในท้ายที่สุดทุกอย่างต้องผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งมุ่งสู่ออนไลน์และ Cashless"


promptpay-logo

นายอรรถเวช อาภาศรีกุล ผู้วิเคราะห์อาวุโส ทีมกลยุทธ์การชำระเงิน 1 ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า ยอดการลงทะเบียนพร้อมเพย์ ณ เดือน ส.ค. 2561 อยู่ที่ 44.5 ล้านหมายเลข คิดเป็นการเติบโต 6% ต่อเดือน แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านเลขประจำตัวประชาชน 28.7 ล้านหมายเลข คิดเป็น 43% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งการลงทะเบียนส่วนใหญ่ เพราะต้องการรับสวัสดิการ หรือ เงินโอนจากภาครัฐ และการรับคืนเงินภาษี จากการสอบถามกรมสรรพากร เบื้องต้นพบว่า มีการขอคืนเงินภาษีเพิ่มขึ้นแล้วเป็น 70% และแนวโน้มการขอคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งช่วยลดการใช้เช็ค จากเดิมที่ใช้ 100% ปัจจุบัน เหลือเพียง 38% เท่านั้น

ขณะที่ การลงทะเบียนผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ อยู่ที่ 15.8 ล้านเลขหมาย ซึ่งผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้งและอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งอยู่แล้ว โดยพบว่า การลงทะเบียนผ่านเลขมือถือมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง 10% ต่อเดือน ซึ่งกลุ่มที่หันมาใช้พร้อมเพย์มากขึ้น คือ กลุ่มลูกค้าที่มีบัญชีโมบายแบงกิ้งอยู่แล้ว และหากดูบัญชีการใช้โมบายแบงกิ้งปัจจุบัน ทั้งระบบอยู่ที่ 38 ล้านบัญชี กลุ่มนี้ได้มีการลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์แล้วกว่า 42% อีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้หมายเลขนิติบุคคล หมายเลขผู้ออกใบแจ้งหนี้ หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) มียอดลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว 1.5 แสนหมายเลข

 

[caption id="attachment_325892" align="aligncenter" width="503"] ©mohamed_hassan ©mohamed_hassan[/caption]

สำหรับปริมาณการทำธุรกรรมพร้อมเพย์ พบว่า มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด โดยในเดือน มิ.ย. 2561 บริการพร้อมเพย์มีปริมาณธุรกรรมกว่า 83.3 ล้านรายการ รวมมูลค่า 4.42 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 2.7 ล้านรายการต่อวัน หากนับตั้งแต่เปิดบริการมา ตัวเลข ณ วันที่ 13 ก.ย. 2560 พบว่า มียอดปริมาณธุรกรรมสะสมอยู่ที่ 631 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท สะท้อนว่า ผู้บริโภคใช้พร้อมเพย์แทนการใช้เงินสดในชีวิตประจำวันมากขึ้น

นายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากธนาคารยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา รวมถึงบริการรับโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ และ QR Code พบว่า ทั้ง 3 ปัจจัย ส่งผลให้ยอดการกดเงินสดทั้งระบบหายไปราว 7% โดยช่องทางสาขาลดลง 7% ขณะที่ ช่องทางเอทีเอ็มยังคงที่ แต่ในอนาคตมีแนวโน้มจะปรับลดลงอีก โดยคาดการณ์ว่า การกดเงินปีนี้จะปรับลดลงเกินกว่า 10%


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,404 วันที่ 27-29 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เจ้าแรก! "คอยน์ แอสเซท" เชื่อมต่อพร้อมเพย์
AIA ดีเดย์ระบบพร้อมเพย์จ่ายเบี้ย


เพิ่มเพื่อน
595959859