กฎเหล็กรัฐ! สกัด 13 สารอันตราย ผู้บริโภค-ส่งออกรับอานิสงส์

30 ก.ย. 2561 | 06:43 น.
วันที่ 25 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 สาระสำคัญ คือ การห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของสาร/กรด รวม 13 ชนิด โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสากลถือเป็นประกาศสำคัญ จากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์ สร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการอาหารไทยมาแล้ว

สำหรับ 13 สาร/กรดที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายในครั้งนี้ ได้แก่ นํ้ามันพืชที่ผ่านกรรมวิธีเติมโบรมีน, กรดซาลิซิลิก, กรดบอริก, บอแรกซ์, โพแทสเซียมคลอเรต, คูมาริน, ไดโฮโดรคูมาริน, ไดเอทิลีนไกลคอล, ดัลซีน, เอเอฟ 2, โพแทส เซียมโบรเมต, ฟอร์มาลดีไฮด์ และสารเมลามีน


วิศิษฐ์2

ผลพวงควบรวมประกาศ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า การห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย อาหารที่มีส่วนประกอบของสารและกรด 13 ชนิดข้างต้น ในข้อเท็จจริงแล้ว 12 รายการแรก ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามใช้ในอาหารมาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว เพราะหลายสาร/กรดเป็นอันตราย เช่น นํ้ามันพืชผ่านกรรมวิธีการเติมโบรมีนเป็นสารก่อมะเร็ง กรดซาลิซิลิกที่ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางมีผลต่อการเพิ่มความเป็นกรดของเลือดและสะสมในร่างกาย ทำให้มีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ส่วนอีก 1 รายการ คือ สารเมลามีน มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายแล้ว ในปี 2555 เพราะสารนี้มีการใช้ในนมผงและอาหารสัตว์ มีคุณสมบัติไปเร่งการเติบโต เพิ่มปริมาณโปรตีนไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่มีพ่อค้าหัวใสเห็นช่องทางในการทำกำไร


นมผง

"ภาพรวมสาร/กรด 13 ชนิด มีการห้ามใช้เป็นส่วนประกอบ หรือ ส่วนผสมอาหารมาหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้นำประกาศหลายฉบับมาควบรวมกัน และออกเป็นประกาศฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยที่เพิ่มเข้าไป คือ ห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่าย ถือเป็นการตัดวงจรต้นทาง ซึ่งในอุตสาหกรรมผลิตอาหารได้ยกเลิกการใช้สารหรือกรดเหล่านี้ไปแล้ว พอมีประกาศออกมาจึงไม่มีผลกระทบ ตรงกันข้ามจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงจะช่วยหยุดยั้งการนำข้อมูลที่ผิด ๆ ในอดีตเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เกี่ยวกับสารหรือกรดข้างต้นมาเผยแพร่ทางโซเชียล ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและเกิดความเข้าใจผิด ทั้งที่ในข้อเท็จจริง สารหรือกรดเหล่านี้มีการยกเลิกใช้ไปแล้ว ผู้ประกอบการก็มีการปรับกระบวนการผลิตและใช้สารอื่นที่ไม่เป็นอันตรายทดแทนหมดแล้ว"


เพิ่มมั่นใจคู่ค้า-ผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน ประกาศดังกล่าวยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอาหารไทย ที่ผลิตสินค้าได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพราะเมื่อห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ก็ไม่มีสารตั้งต้น สาร/กรดเหล่านี้จะมาอยู่ในอุตสาหกรรมไม่ได้ หากใครยังฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมาย

ส่วนกรณีที่มีประกาศเรื่องการห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย อาหารที่มีไขมันทรานส์ไปก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ทุกรายได้ออกมาประกาศว่า เลิกใช้กันหมดแล้ว และบางรายก็เลิกใช้มานานแล้ว ซึ่งในข้อเท็จจริง ต้นทางของไขมันทรานส์ มีผู้ผลิตพวกมาร์การีน หรือ ครีมเทียม ในประเทศเพียง 2 ราย ณ ปัจจุบันทั้ง 2 ราย ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธี หรือ สูตรการผลิตปราศจากไขมันทรานส์ไปหมดแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีประกาศเสียอีก ขณะที่ การนำเข้าจากต่างประเทศก็ถูกบล็อกด้วยกฎหมายของรัฐบาล ทำให้นำเข้ามาไม่ได้

"สรุปแล้วทั้ง 2 ประกาศ ส่งผลดีต่อผู้บริโภคและภาพบวกต่อการส่งออกที่ได้อานิสงส์ไปด้วย จากมีประกาศซึ่งถือเป็นกฎหมายห้าม เราไม่ต้องไปยืนยันในต่างประเทศว่า เราไม่มีแล้ว แต่หากปลายทางเขาตรวจเจอ ก็แปลว่าคุณผิด แต่ที่ผ่านมา จากการสุ่มตรวจสารต่าง ๆ ข้างต้น ในสินค้าอาหารไทยในประเทศปลายทาง ไม่พบมีสารตั้งต้น เพราะเราเลิกใช้ไปแล้ว"


ป้องส่งออกอาหาร 1 ล้านล้าน
"วิศิษฐ์" กล่าวอีกว่า ในปี 2560 ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารทุกประเภทไปต่างประเทศ มูลค่ารวม 1.04 ล้านล้านบาท ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีการส่งออกแล้วมูลค่ารวม 6.98 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.34% ขณะที่ การส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่า 21,942 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.28% ซึ่งมูลค่าส่งออกรูปเงินบาทที่ขยายตัวน้อย ผลพวงจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้รายรับในรูปเงินบาทลดลง


เรือส่งออก

ส่วนการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปใน 6 กลุ่มสินค้าสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (ทูน่า, อาหารทะเล, สับปะรด, ข้าวโพดหวาน, ผักและผลไม้ และอาหารพร้อมทานและเครื่องปรุง) ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีการส่งออกแล้วมูลค่า 1.24 แสนล้านบาท ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8% โดยกลุ่มที่ส่งออกติดลบมาก ได้แก่ กลุ่มสับปะรด (-35%) จากราคาสินค้าส่งออกลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากวัตถุดิบล้นตลาดและราคาตก ยังผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าส่งออกลดลงตาม และมีคู่แข่งมากในตลาด และในกลุ่มผักผลไม้ (-9.4%) จากราคาสินค้าที่ลดลงและมีคู่แข่งขันมากเช่นกัน


090861-1927-9-335x503-8-335x503

ทั้งปีนี้ทางสมาคมลุ้นตัวเลขการส่งออกสินค้าทั้ง 6 กลุ่มสมาชิกของสมาคม จะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3% (จากปี 2560 ส่งออก 1.95 แสนล้านบาท) โดยคาดหวังกลุ่มสินค้าอาหารทะเล ทูน่า ข้าวโพดหวาน และอาหารพร้อมรับประทาน ยอดส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เป็นช่วงไฮซีซันที่คู่ค้ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้น


หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,405 วันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว