PTTEP งัด 'เชฟรอน' กินรวบแหล่งก๊าซ!!

28 ก.ย. 2561 | 11:14 น.
280961-1800

ประมูลขุมทรัพย์ปิโตรเลียม 2 ล้านล้าน แข่งดุ! 'เชฟรอน' และ 'ปตท.สผ.' หวังกินรวบทั้งบงกชและเอราวัณ โดยแต่ละฝ่ายดึงพันธมิตรอย่าง "มิตซุยและมูบาดาลา" เข้าร่วม ชี้เป็นโอกาสในการทำธุรกิจ ขณะที่ วงในเผยโอกาสชนะให้ทางฝั่งเชฟรอน มีต้นทุนการผลิตต่ำ

เป็นไปอย่างคึกคัก สำหรับการยื่นซองประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณ ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา มีกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศราว 50 คน นำโดย พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เดินทางมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อคัดค้านการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช โดยเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานชะลอการประมูลปิโตรเลียมออกไปอีก 3 เดือน และจัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาศึกษาร่วมกัน พร้อมทั้งแก้ไขทีโออาร์ โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่เป็นของรัฐเพียง 30%

 

[caption id="attachment_325431" align="aligncenter" width="503"] วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ[/caption]

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในการเปิดประมูลแห่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ได้มีผู้มายื่นซองประมูลจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลา และบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์ โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด

ขณะที่ แปลง G2/61 (แหล่งบงกช) มีผู้ยื่นจองจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด

โดยหลังจากนี้ไป ทางกรมฯ จะใช้เวลาเพื่อพิจารณาผู้ชนะการประมูล และคาดว่าจะสามารถนำเสนอชื่อผู้ชนะการประมูลไปยังคณะรัฐมนตรีในเดือน ธ.ค. 2561 นี้


 

[caption id="attachment_325432" align="aligncenter" width="503"] ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด[/caption]

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทยื่นประมูลทั้งแหล่งเอราวัณบงกช โดยร่วมกับทางมิตซุยฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรรายเดิมที่ร่วมดำเนินการในแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน โดยในส่วนของราคาที่เสนอไปนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอยู่ในข้อกำหนดตามทีโออาร์ แต่มั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี และมีเทคโนโลยีสามารถแข่งขันได้ ซึ่งการยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่งนั้น ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้าไปร่วมประมูลได้

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ร่วมเข้าร่วมกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ และมีการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี ซึ่ง ปตท.สผ. มีความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญ ในแหล่งบงกชตลอดระยะเวลา 25 ปี ทำให้เชื่อว่าจะสามารถชนะ และสร้างความต่อเนื่องในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า


app-Arthit_01

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เปิดเผยว่า หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ผู้ที่จะชนะการประมูล โดยให้น้ำหนักเสนอราคาก๊าซฯ ต่ำสุดถึง 65% และราคาที่เสนอมาต้องไม่เกิน 214 บาทต่อล้านบีทียูนั้น ซึ่งตามต้นทุนหรือราคาขายก๊าซฯ ของแหล่งเอราวัณของเชฟรอนฯ ในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา จะอยู่แค่เพียง 170.7 บาทต่อล้านบีทียู หรือราว 5.13 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูเท่านั้น ขณะที่ แหล่งบงกชราคาขายก๊าซจะอยู่ที่ราว 209 บาทต่อล้านบีทียู หรือที่ราว 6.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงกว่า

ดังนั้น ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับทางผู้ยื่นทั้ง 2 ราย หวังที่จะชนะ ซึ่งจะต้องดัมพ์ราคาขายก๊าซให้ต่ำลงมามาก หากพิจารณาจากต้นทุนที่เป็นอยู่นี้ โอกาสที่เชฟรอนจะชนะก็มีสูงมาก

อย่างไรก็ตาม แม้เชฟรอนจะชนะการประมูลในแหล่งเอราวัณก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงในด้านปริมาณสำรองก๊าซที่เหลือน้อยลง จึงต้องลงทุนจำนวนมากในการสำรวจและขุดเจาะ เนื่องจากที่ผ่านมา ได้มีการเจาะหลุมและผลิตก๊าซขึ้นมาเป็นจำนวนมากแล้ว ส่วนแหล่งบงกชจะมีปริมาณก๊าซที่ยังเหลือเป็นจำนวนมาก การลงทุนสำรวจและขุดเจาะ จะใช้เงินลงทุนในปริมาณที่น้อยกว่า


appP1-2-3162

โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แหล่งเอราวัณมีรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติเหลว 420 ล้านบาท และก๊าซธรรมชาติ 846 ล้านบาท ส่วนแหล่งบงกชมีรายได้ขายก๊าซ 2,761 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากการประมูลครั้งนี้ต้องเลื่อนออกไป จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาครัฐที่หายไปมหาศาล จากรายได้ ภาษี ค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนจากปิโตรเลียมที่ส่งเข้ารัฐอยู่ที่ 1.6-2 แสนล้านบาทต่อปี รวมถึงการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีและก๊าซหุงต้มที่สูงขึ้นด้วย เพื่อมาทดแทนวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี


GP-3404_180928_0010

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,404 วันที่ 27-29 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
PTTEP งัดเชฟรอนกินรวบแหล่งก๊าซ
ปตท.สผ. - เชฟรอน ชิงประมูล "บงกช - เอราวัณ"

เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว