สำเร็จ! เล็งขยายผล "บางระกำโมเดล" ส่งเสริมอาชีพ ลดความเสียหายช่วงฤดูน้ำหลาก

28 ก.ย. 2561 | 09:39 น.
44661

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดน้ำเข้าทุ่งบางระกำ และติดตามผลการดำเนินโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 ณ จ.พิษณุโลก ว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วม และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.สุโขทัย และพิษณุโลก จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานและหน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกันในการปรับแผนการเพาะปลูกพืชนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำจนประสบผลสำเร็จ นำไปสู่การขยายผลในปีนี้ ภายใต้โครงการ "บางระกำโมเดล 61" จากพื้นที่ 265,000 ไร่ ให้ขยายผลเพิ่มขึ้นเป็นอีก 117,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ โดยปรับแผนการส่งน้ำสำหรับเพาะปลูกข้าวในเดือน เม.ย. และให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือน ก.ค. เพื่อไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลากได้ถึง 550 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกันนี้ กรมประมงได้นำพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ มาปล่อยลงสู่ทุ่งบางระกำกว่า 1 ล้านตัว เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้มีอาชีพเสริมจากการจับปลา หรือ แปรรูปอาหารออกจำหน่าย รวมทั้งสามารถนำไปบริโภคเองได้ด้วย


44663

"นอกจากการส่งเสริมอาชีพประมงแก่เกษตรกรในโครงการบางระกำโมเดลแล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสมดุลของปริมาณการผลิตการตลาดข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งเกษตรกรมีรายได้และอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน จากกิจกรรมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูนาปรัง และเพื่อให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสถียรภาพในการผลิตสินค้า ลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานที่มีความเหมาะสม ตาม Zoning by Agri – Map ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด โดยมีมาตรการจูงใจให้กับเกษตรกร ด้วยการจัดหาปัจจัยการผลิตและการเตรียมดิน โดยจะให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่สามารถขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอให้ดำเนินการในส่วนค่าเบี้ยประกันภัยไร่ละ 65 บาท จำนวน 2,000,000 ไร่ อีกด้วย"


090861-1927-9-335x503-8-335x503

สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีความประสงค์ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในนาช่วงฤดูแล้ง โดยพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในเขตชลประทาน หรือ พื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำและอยู่ในพื้นที่ที่โครงการกำหนด ทั้งนี้ เกษตรกรต้องมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. ยกเว้นเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกร และมีความประสงค์ขอรับสินเชื่อจากสถาบันเกษตรกร"


NSA_7120

ในโอกาสนี้ ได้ติดตามผลการดำเนินงานและมอบเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรในโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 ซึ่งเป็นเกษตรกรใน อ.พรหมพิราม 13,752 ครัวเรือน ครบคลุมพื้นที่ปลูก 318,692 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 (รอบที่ 1) และขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร (กลุ่มข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวปทุมธานี1 และข้าวเจ้า) ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ตามพื้นที่ปลูกจริงไม่เกิน 12 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท และพื้นที่เพาะปลูกไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่เสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ (ไร่ละ 1,113 บาท) ยกเว้นกรณีนำไปเพาะปลูกใหม่ในช่วงเวลาการเพาะปลูกรอบที่ 1 โดยจะได้รับเงินไม่เกินพื้นที่เพาะปลูกจริงและไม่เกินพื้นที่ประสบภัย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว