ตั้งศูนย์บริหารจัดการโครงข่ายเน็ตประชารัฐแบบ Real time

28 ก.ย. 2561 | 08:30 น.
กระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งศูนย์บริหารจัดการโครงข่ายเน็ตประชารัฐแบบ Real time เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานหากประชาชนพบเห็นปัญหาขัดข้องการใช้งาน แจ้งได้ที่ 1111 กด 88 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้ประชาชนสังเกตสัญลักษณ์เน็ตประชารัฐว่าเป็นสีเขียวหรือสีแดง เพื่อความสะดวกในการแก้ไข

1538116194307[20657]
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ หรือโครงการเน็ตประชารัฐ ว่า ขณะนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ได้ดำเนินการติดตั้งและเปิดให้บริการเน็ตประชารัฐ และมีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย (ไวไฟ ฟรี) 1 จุด ครบทุกหมู่บ้านจำนวน 24,700 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน 26 กันยายน 2561 มีประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้งานแล้ว ทั้งหมด 4,048,466 คน และมีจำนวนเข้าใช้งานทั้งหมด 20,999,973 ครั้ง นับว่าเป็นความคุ้มค่าต่อการลงทุน และกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับการเข้าใช้งาน มุ่งใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐมาตลอด จนถึงปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมกิจกรรมสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์เน็ตประชารัฐแล้ว มากกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งได้ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ กศน. อีกทั้งกระทรวงดิจิทัลฯ มีแผนงานต่อไป โดยมุ่งสร้างกลุ่มเน็ตอาสาประชารัฐของแต่ละหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาการใช้งานด้านอื่น ๆ ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน ตลอดจนดูแลรักษาอุปกรณ์ แจ้งปัญหาการใช้งาน เพื่อให้อุปกรณ์พร้อมใช้งาน
ทั้งนี้เพื่อให้การใช้งานโครงข่ายเน็ตประชารัฐ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการโครงข่ายเน็ตประชารัฐหรือ (Network Operation Center: NOC) โดยศูนย์ดังกล่าว ทำหน้าที่แจ้งเตือนสถานะการทำงานของโครงข่ายและอุปกรณ์ ซึ่งระบบจะแสดงข้อมูลเวลาจริง (Real Time) สามารถรับทราบข้อมูลจุดให้บริการเน็ตประชารัฐของทุกหมู่บ้าน ว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือเกิดเหตุขัดข้องที่จุดให้บริการที่ไหน
“หากพบว่าเกิดจากระบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตขัดข้อง จะสามารถแก้ไขได้จากส่วนกลางเพื่อให้สามารถใช้งานได้ปกติ แต่กรณีขัดข้องในลักษณะสายขาด อุปกรณ์เสียหาย จะใช้เวลาในการเดินทางเข้าพื้นที่ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่โดยด่วน กรณีพื้นที่ห่างไกลเกิน 50 กิโลเมตร (กม.) นั้น จะใช้เวลาในการเดินทางในการเข้าพื้นที่เพื่อแก้ไข โดยจะพยายามดำเนินการแก้ไขให้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้งานได้ปกติโดยเร็ว”
ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 พบว่า ภาพรวมเกิดเหตุขัดข้องส่วนใหญ่จากสายเคเบิลใยแก้วนำแสงและจุดเชื่อมต่อระหว่างทางเสีย รองลงมาเป็นสาเหตุจากระบบไฟฟ้าหรือปลายทางปิดอุปกรณ์และเหตุเสียที่จุดติดตั้งอุปกรณ์ Wi-Fi ในการแก้ไขเหตุขัดข้องส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลา คิดเป็นร้อยละ 96.73 ของจำนวนเหตุขัดข้องทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม บมจ.ทีโอที มีความพยายามที่จะแก้ไขเหตุขัดข้องให้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้การแก้ไขเหตุขัดข้องเป็นไปตามมาตรฐานและให้บริการอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ที่ติดตั้งจุดให้บริการเน็ตประชารัฐ หากพบเห็นว่าระบบอินเทอร์เน็ตขัดข้อง ไม่สามารถใช้งานได้ ให้แจ้งมาที่ คอลเซ็นเตอร์ หมายเลข 1111 กด 88 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถามและแนะนำในการใช้ รวมถึงประสานงานเพื่อแก้ไขเหตุขัดข้องตลอด 24 ชั่วโมง และยังสามารถแจ้งเหตุขัดข้อง ได้ที่ email: [email protected]
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ตั้งคณะทำงานร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐและการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการเน็ตประชารัฐ ตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงดีอี จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐที่มีข้อร้องเรียน เรื่องคุณภาพการใช้งาน พร้อมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ลงพื้นที่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ โดยเฉพาะในประเด็นคุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ต จำนวนผู้ใช้งาน ปัญหา/อุปสรรคที่เกิดขึ้นในการเข้าใช้งาน รวมถึงความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งหวังให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมทั่วประเทศ รัฐบาลได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ โดยส่วนที่ 1 มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้ดำเนินการวางโครงข่ายเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการการติดตั้ง โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากสัญลักษณ์เน็ตประชารัฐ ที่เป็นโลโก้สีเขียว
ส่วนที่ 2 จะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ต 15,732 หมู่บ้าน และพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากสัญลักษณ์เน็ตประชารัฐที่เป็นโลโก้สีแดง เพื่อสะดวกและมีความชัดเจนต่อการแจ้งเหตุขัดข้องการใช้งานของประชาชน