กทม.ยอมเอกชนจัดหาผู้ค้ารายย่อย ต้องร่วมรับผิดต่อผู้จองที่เสียหาย!

30 ก.ย. 2561 | 07:00 น.
 

สำนักงานตลาดกรุงเทพ มหานคร เป็นหน่วยงานพาณิชย์ในสังกัดของกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ในการจัดสร้างหรือจัดให้มีตลาดในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว กรุงเทพมหานคร อาจจำเป็นต้องจัดหาทั้งสถานที่และมอบหมายให้เอกชนร่วมดำเนินงาน เช่น การจัดหาที่ดิน การพัฒนา ที่ดิน การก่อสร้างอาคาร รวมทั้งการจัดหาผู้ค้ารายย่อยให้เข้าทำการจองแผงค้าตามหน้าที่ที่กำหนดโดยสัญญาระหว่างกรุงเทพมหานครกับเอกชนที่ร่วมดำเนินงาน

ปัญหาว่า ในการดำเนินการตามสัญญาดังกล่าว หากเอกชนที่ร่วมดำเนินงานได้จัดหาผู้ค้ารายย่อย โดยให้ผู้ค้ารายย่อยทำสัญญาจองแผงค้าและชำระเงินค่าจองแผงค้า แต่ต่อมากลับไม่ได้เข้าทำสัญญาเช่าแผงค้าถาวรเพื่อทำการค้าในตลาด ตามที่ชำระเงินค่าจองแผงค้าไว้

กรณีดังกล่าวกรุงเทพ มหานคร ต้องร่วมกันหรือแทนกันกับเอกชนที่ร่วมดำเนินงานรับผิดคืนเงินให้แก่ผู้จองแผงค้าหรือไม่? ดังเช่นข้อเท็จจริงจากอุทาหรณ์คดีปกครองในฉบับนี้

fruits_market_colorful-1238028

กรุงเทพมหานครได้ทำสัญญากับบริษัท ธ. เพื่อทำโครงการขยายพื้นที่ตลาดนัด โดยบริษัท ธ. มีหน้าที่พัฒนาที่ดิน ก่อสร้างอาคาร และเรียกเก็บเงินดังกล่าวจากผู้ค้ารายย่อยที่ทำสัญญาจองแผงค้า และส่งมอบรายชื่อผู้จองแผงค้าให้กรุงเทพมหานครจัดทำสัญญาเช่าแผงค้าถาวรกับผู้จองแผงค้าต่อไป

คดีนี้ นางส้มฉุนได้จองแผงค้ากับบริษัท ธ. และได้ชำระเงินค่าสิทธิการเช่าแผงค้าให้บริษัท ธ. เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท แต่เมื่อบริษัท ธ. ได้ส่งมอบรายชื่อของผู้ค้ารายย่อยที่ ทำสัญญาจองแผงค้า ให้กรุงเทพมหานคร กลับไม่มีรายชื่อของนางส้มฉุน ทำให้นางส้มฉุนไม่ได้เข้าทำสัญญาเช่าแผงค้าถาวรกับกรุงเทพมหานคร เพื่อขายสินค้าในแผงค้าที่จองไว้

นางส้มฉุน (ผู้ฟ้องคดี) จึงยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และบริษัท ธ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันคืนเงินค่าสิทธิการเช่าแผงค้าให้แก่ผู้ฟ้องคดี

กรณีนี้กรุงเทพมหานคร จะต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ธ. คืนเงินให้กับผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ?

หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับเอกสารโฆษณาเชิญชวนจองแผงค้า รายละเอียดของเอกสารเชิญชวนดังกล่าว มีชื่อของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และตามเอกสารเชิญชวนระบุว่าโครงการนี้ร่วมดำเนินการระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้บริหารตลาด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้บริหารการก่อสร้างตลาดและขาย อีกทั้งในเอกสารเชิญชวนยังมีตราสัญลักษณ์ประจำหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แสดงไว้ที่มุมบนด้านซ้ายของเอกสาร และมีตราประทับที่เป็นเครื่องหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่มุมบนด้านขวาของเอกสาร

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับเอกสารโฆษณาเชิญชวน จึงเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นโครงการให้เช่าแผงค้าถาวร โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้จัดทำโครงการและมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมรับผิดชอบการพัฒนาที่ดิน การก่อสร้างอาคารและการขาย จึงจองแผงค้าและชำระเงินค่าสิทธิการเช่าแผงค้า

การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง วิญญูชนทั่วไปรวมทั้งผู้ฟ้องคดีย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่าโครงการตลาดนี้เป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำบริการสาธารณะในการจัดให้มีตลาดในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการในด้านการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างอาคาร และเรียกเก็บเงินค่าพัฒนาที่ดินและก่อสร้างจากผู้ยื่นจองสิทธิการเช่าแผงค้าในตลาดดังกล่าว

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เชิดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เชิดตัวเองเข้าทำการจองแผงค้ากับผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีได้ จึงต้องร่วมกันหรือแทนกันกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รับผิดคืนเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี

การที่หน่วยงานของรัฐมอบหมายให้เอกชนร่วมดำเนินงานหรือยอมให้เอกชนเชิดตัวเองเพื่อทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐนั้น หากพฤติการณ์ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการจัดทำโดยหน่วยงานของรัฐร่วมกับเอกชน เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก หน่วยงานของรัฐอาจต้องรับผิดร่วมกับเอกชนในความเสียหายที่เกิดขึ้น ท่านที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 2/2561 (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)

……………………………………………………………….

บทความ |โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3405 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม 2561

ขอบคุณภาพประกอบจาก Google

595959859