ร่างพรบ.ภาษีที่ดินก.ม.ที่ถูกบิดเบือน ด้วยมายาคติ-อาวุธร้ายทำลายชาติ

30 ก.ย. 2561 | 04:00 น.
นับเป็นเวลาที่ยาวนานมาก กับการต่อสู้ผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนากฎหมายนี้ยังไม่เข้าวิน สัมฤทธิผลคือสิ่งใด เป็นคำถาม ใหญ่ที่สังคมต้องช่วยกันหาคำตอบ ทั้งที่กฎหมายดีๆ ที่อารยประเทศทั่วโลกเขาบังคับใช้กัน แต่ในประเทศไทยกลับไม่เคยทำสำเร็จ

ซึ่งมีกลุ่มคนออกมาสื่อสาร แสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆ นานา โดยหลักประชาธิปไตยแล้วนั้นถือเป็นสิทธิโดยชอบของแต่ละบุคคล แต่ปัญหาคือ การตีความ หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะบิดเบือน หรือสื่อสารตามข้อเท็จจริงบางส่วน สร้างความชวนเชื่อให้สาธารณะเข้าใจถึง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่าเป็นสิ่งผิดบาป หรือเลยเถิดไปจนถึงว่า รัฐบาลใดที่หยิบยกกฎหมายนี้ จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน อุ้มคนรวย หรือแม้กระทั่งการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เป็นกฎหมายขูดรีดคนยากจน

กรรมสิทธิ์ที่ดิน 2

ทั้งที่ความเที่ยงแท้ในกฎหมายนี้นั้น มีหลักการ และรูปแบบที่ถูกใช้มาอย่างแพร่หลาย และจริงๆ แล้วถ้าจะว่าไปก็คือ การ พัฒนาจากกฎหมายเดิม กฎหมายภาษีโรงเรือน และกฎหมายบำรุงท้องที่ ถ้าจะวิเคราะห์ปัญหา และอุปสรรคที่จริงแท้แล้วนั้น พอจะจำแนกออกได้เป็นประเด็นดังนี้

• ความหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลง สังคมไทยเราถูกบ่มสอนให้อยู่ใน Comfort Zone การเปลี่ยนแปลงคือความผิดพลาด จึงเป็นเรื่องยากมากเวลาที่สังคมไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

• การให้ความสำคัญกับการสื่อสารสร้างความเข้าใจ สร้างความมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับประชาชน วัฒนธรรมการพิจารณาการตรากฎหมายถูกมองว่าเป็นเรื่องของนักกฎหมาย หรือผู้ที่มีหน้าที่มีอำนาจเท่านั้น แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว การมีส่วนร่วม และการได้รับการยอมรับมีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้กฎหมายนั้นบังเกิดผลที่แท้จริง

• ความเข้าใจผิดจากการนำเสนอของผู้ที่เสียประโยชน์จำนวนมากหากกฎหมายนี้ ออกมาบังคับใช้ ใช้ประชาชนรากหญ้ามาอ้างอิง เช่น จะกระทบผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร, SMEs ฯลฯ ถ้าไม่ชำระภาษีจะถูกริบ อายัด บังคับทรัพย์ขายทอดตลาด ทั้งที่แท้จริงแล้ว ยังต้องมีกฎหมายลูก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และยังมีการคัดค้าน และการอุทธรณ์ ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิของประชาชน

หรืออีกประการหนึ่งถ้าจะนำกฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนฯ มาตรา 41 ก็มีเรื่องของการยึด อายัด ขายทอดตลาด ก็มีอยู่เดิมเช่นกัน ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการเหล่านี้การบังคับจัดเก็บก็เป็นไปได้ยาก

ประโยชน์ที่แท้จริงของร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ

• การจัดการรายได้ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ถึงความถูกต้องเพราะใช้ฐานการจัดเก็บที่ปราศจากการแทรกแซง หรือใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด

• ลดความเหลื่อมลํ้าได้บางปัจจัย (ไม่ใช่ทั้งหมด) และเพิ่มศักยภาพในการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างที่ควร (เศรษฐีไทยที่ถือครองที่ดินโดยไม่พัฒนาให้เกิดประโยชน์นั้นถือเป็น การทำลายชาติในรูปแบบหนึ่ง)

• การนำรายได้จากภาษีไปบริหาร จัดการในการพัฒนาในชุมชนนั้นๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง

images

สถานการณ์ปัจจุบันนั้นกระบวน การพิจารณา ศึกษา ถูกดำเนินไปอย่างละเอียด รอบคอบ และได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น การนำความคิดเห็นมาพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้านอย่างสุดความสามารถ ซึ่งมิได้มีข้อจำกัด หรือข้อกำหนดใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาให้ดีที่สุด และในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ผู้เสียภาษีก็มิใช่ชาวบ้านทั่วๆ ไป เพราะมีการยกเว้นไว้แล้ว

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจ และช่วยกันหารือกันในสังคมไทยว่าเราจะยอมรับกติกาเก่า
ที่ทุกวันนี้ ต่างรู้เห็นกันอยู่แก่ใจว่ามีการรั่วไหล มีการขาดมาตรฐาน และการกำกับตรวจสอบในการจัดเก็บ คนไทยจะต้องเป็นศรีธนญชัยกันสืบทอดต่อไปอีกกี่รุ่น ด้วยการแยกบิลรายได้เพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือจะช่วยกันยกระดับประเทศ ยกระดับศีลธรรมในใจเราให้เลือกในวิถีทางที่ยุติธรรม โปร่งใส ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ นำพาชาติไปสู่อารยประเทศ

และที่สำคัญคือ การทำให้สังคม ชุมชนทั่วทั้งประเทศได้รับสิทธิที่เสมอภาคกัน ลดทอนความเหลื่อมลํ้า ใครรํ่ารวยเหลือล้น ก็ชำระภาษีมากตามกำลัง และจะต้องนำอสังหาริมทรัพย์นั้น มาช่วยกันพัฒนาประเทศ มิใช่เก็บเป็นที่รกร้าง กลายเป็นแหล่งก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพ เราจะเดินออกจากวังวนแห่งมายาคติในเรื่องนี้ที่ยาวนานมานับสิบๆ ปีกันได้หรือยัง

……………………………………………………………….

บทความ |โดย อภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3405 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม 2561

ขอบคุณภาพประกอบจาก Google

595959859