ผ่าปมร้อน 'สุวรรณภูมิ' ยึดมาสเตอร์แพลนคนละฉบับ!!

29 ก.ย. 2561 | 10:52 น.
การเปิดประเด็นผังพื้นที่ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ของอดีตผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงสร้างสนามบินยุคแรก อย่าง บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ฯ หรือ บทม. รวมถึงการได้รับข้อมูลของสภาสถาปนิก ที่ระบุว่า จุดดังกล่าวไม่เป็นไปตามผังแม่บท (Master Plan) เดิม เรื่องนี้ไม่มีใครถูกหรือผิด เพราะข้อมูลที่แต่ละฝ่ายนำเสนอขึ้นมา ต่างก็ยืนตามข้อมูลที่แต่ละฝ่ายมี ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ด้วยช่วงเวลาที่ต่างกัน จึงทำให้ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่วันนี้ ดูเหมือนจะยืนอยู่บนข้อมูลกันคนละฉบับก็ว่าได้



472296

อีกฝ่ายก็ยึดข้อมูลมาสเตอร์แพลนที่รีไวส์ในปี 2546 จากแผนแม่บทฉบับแรกในปี 2536 ที่กำหนดแผนพัฒนาสูงสุดเต็มพื้นที่ (อัลติเมต เฟส) จะขยายการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 120 ล้านคน โดยมีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร อาคารเทียบเครื่องบิน (แซตเทลไลต์) 2 อาคาร และมี 4 รันเวย์ ขณะที่ แผนพัฒนาที่ ทอท. ยึดอยู่วันนี้ คือ จะมีอาคารผู้โดยสาร 3 อาคาร ส่วนอาคารเทียบเครื่องบินมี 2 อาคาร และมี 4 รันเวย์ ขยายการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 150 ล้านคน

การรีไวส์แผนแม่บทครั้งล่าสุดของ ทอท. เป็นไปตามข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่เสนอว่า แผนแม่บทสนามบินควรปรับปรุงทุก ๆ 5 ปี หรือ เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่า ด้วยสถานการณ์การบินที่เปลี่ยนไปจากในอดีตมาก อาทิ การเกิดขึ้นของเครื่องบินเอ380, เทคโนโลยีอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนไป การขยายตัวของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

ทำให้ที่ผ่านมา ทอท. มีรีไวส์แผนแม่บทมาแล้ว 4 ครั้ง ปี 2546 , ปี 2552 , ปี 2554 และปี 2561 บางยุคจะให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นซิงเกิล แอร์พอร์ต บางยุคก็เป็น Dual Airport (ดอนเมืองควบสุวรรณภูมิ)


MP22-3405-A

จนได้เป็นแผนแม่บทที่ปรับปรุงล่าสุด ในปี 2561 ที่อิงข้อเสนอจาก ICAO ที่ ทอท. จ้างมารีไวส์แผนแม่บทในปี 2554 ซึ่งมองว่า ควรจะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มมากกว่า 2 หลัง เพื่อให้ทันกับการขยายตัวของผู้โดยสารจริง ๆ เพราะถ้าทำตามในอดีตทุกอย่าง โดยไม่ได้มีการต่อยอดการพัฒนาเลย ท้ายสุด ... พัฒนาอย่างไรก็ไม่ทันกับดีมานด์ผู้โดยสาร ปัจจุบัน สนามบินมีผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี เกินศักยภาพสนามบินที่ตอนนี้รับได้ 45 ล้านคนแล้ว


472297

472300

472298

Slide 1

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นของ ทอท. ล้วนต่อยอดจากแผนแม่บทที่ทำมาแล้วนานกว่า 2 ทศวรรษครึ่ง สิ่งใดที่กำหนดไว้เดิม ก็มีแผนจะทำทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ระยะเวลาในการดำเนินการ ว่าจะหยิบสิ่งใดในแผนแม่บทมาพัฒนาก่อนหรือหลัง จะต้องให้สอดรับกับการโอเปอเรชันของสนามบินในแต่ละช่วงเวลาด้วย อย่างวันนี้ ... เราทำเฟส 2 อยู่ ก็จะควบที่จะลงทุนเฟส 3 เพื่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ขึ้นมาก่อน ซึ่งอยู่ในโซนที่พัฒนาการเชื่อมโยงการใช้บริการของผู้โดยสารในปัจจุบันได้

ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ที่ตามแผนดั้งเดิมระบุว่า เป็นหลังที่ 2 ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ ก็จะกลายเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ก็จะอยู่ตรงเฟสสุดท้าย เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกลที่สุด และต้องขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่เปิดให้บริการอยู่ให้แล้วเสร็จก่อน โดยจะขยายฝั่งตะวันตกก่อน เพื่อไม่ให้กระทบเคาน์เตอร์เช็กอินของการบินไทย จากนั้นจึงจะสร้างทางฝั่งตะวันออก เพื่อให้กระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารน้อยที่สุด


สภาสถาปนิกร้อง 'บิ๊กตู่' ค้าน 'T2' ไม่ตรงผังแม่บท
พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก เผยว่า ทอท. มีการปรับผังแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และย้ายตำแหน่งที่ตั้งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จากเดิมที่อยู่ทางด้านทิศใต้ มาอยู่บริเวณทิศเหนือปลายอาคารเทียบเครื่องบิน Concourse A นั้น ตำแหน่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามผังแม่บท (Master Plan) เดิม ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการออกแบบ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังสนามบินที่ออกแบบไว้เมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและบริหารจัดการสนามบิน

ที่ตั้งใหม่ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินที่มีอยู่เดิม ทำให้มีปัญหาทางเทคนิค เพิ่มต้นทุนในระยะยาว และทำให้ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ทอท. ควรขยายอาคารผู้โดยสารเดิม เพื่อเพิ่มพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกต่อเนื่อง เพื่อให้เทอร์มินัลปัจจุบันสมบูรณ์ และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้านทิศใต้ตามแผนเดิม

สภาสถาปนิกจะรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงของผังแม่บท และสิ่งที่ ทอท. กำลังจะทำ ยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ พร้อมข้อแนะนำการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้เหมาะสมคุ้มค่า เป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการล้มการประมูล

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ฯ หรือ บทม. กล่าวว่า ผังแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิที่ทำมาในอดีต วางตำแหน่งอาคารหลังที่ 1, 2 อาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1, 2 อาคารผู้โดยสาร รันเวย์ เป็นการออกแบบสนามบินอย่างสมดุลซ้าย-ขวา ทุกอย่างวางล็อกไว้แล้ว รับผู้โดยสารสูงสุดที่ 100 ล้านคนต่อปี และพีกขึ้นไปได้ถึง 120 ล้านคนต่อปี ภายใต้ 4 รันเวย์

ส่วนเทอร์มินัล 2 รองรับ 30 ล้านคนต่อปี ตาม TOR ทอท. ระบุ มี 14 หลุมจอด ที่อยู่ใน (Taxi 5) จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรับ 30 ล้านคนต่อปี ทอท. ควรทำตามผังแม่บทเดิมที่ให้ขยายปีกอาคารผู้โดยสารเดิมด้านตะวันออกและตะวันตก โดยไม่ต้องทุบอาคารเดิม


รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3405 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว