เทรดตราสารหนี้พุ่ง 6 เท่า ดึงบล็อกเชนจัดการข้อมูล ร่นเวลาส่งมอบชำระเงิน

02 ต.ค. 2561 | 04:18 น.
สมาคมตราสารหนี้รับยุคเทคโนโลยีเปลี่ยน ดึงบล็อกเชนจัดการฐานข้อมูล หวังให้การชำระเงินพร้อมส่งมอบเสี้ยววินาที เหตุมูลค่าซื้อขายต่อวันพุ่งสูง 6 เท่า หวั่นเสี่ยงต่อระบบ หากไม่เร่งวางระบบรองรับ

ระบบโครงสร้างพื้นฐานของงานตราสารหนี้ภาคเอกชนและครบวงจร จะต้องลดความซํ้าซ้อนมีความปลอดภัยสูงและอัตโนมัติ คือเป้าหมายและแผนการดำเนินงานระบบ Registrar Service Platform ซึ่งสมาคมตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) วางเป้าหมายที่จะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายใน 6-12 เดือนนับจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ธนาคารพาณิชย์ ผู้ออกตราสารหนี้ นายทะเบียน เพื่อพัฒนาระบบ Registrar Service Platform ไม่ให้ซํ้าซ้อนกัน และหากทดสอบระบบพร้อม จะนำเข้าไปทดสอบในกระบะทราย หรือ Sandbox ทั้งของธปท.และก.ล.ต.ว่า มีช่องโหว่อะไร ละเมิดกฎระเบียบหรือไม่ โดยคาดว่าระบบแรกคือ การตรวจสอบข้อมูลจองซื้อและ Smart Bond จะเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้การพัฒนาระบบ Registrar Service Platform เพราะเห็นว่าในระยะยาว ระบบตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยยังแฝงความเสี่ยงไว้ เนื่องจากยังต้องเก็บเป็นใบ หรือ Scrip เวลาการซื้อขายต้องถือเช็คไปแลกกับใบ ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีก่อน มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ไม่ถึง 1 พันล้านบาทต่อวัน แต่ปัจจุบันมูลค่าซื้อขายต่อวันเพิ่มขึ้นที่กว่า 6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6 เท่า จึงเกรงว่า การที่ตราสารหนี้เป็นใบอยู่ จะเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของระบบในอนาคตได้

Print

“เราจึงมีเป้าหมายว่า อยากไปให้ถึงในสิ่งที่เรียกว่า การชำระเงินและส่งมอบแบบ realtime คือ เงินกับตราสารหนี้สามารถแลกเปลี่ยนกันในเสี้ยววินาที จากที่ซื้อขายกันในวันที่ T+2 จะไม่มีความเสี่ยงว่า เมื่อโอนใบไปแล้วไม่ได้รับเงิน หรือโอนเงินออกไปแล้วไม่ได้รับใบ ดังนั้น จึงได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้จัดการฐานข้อมูล โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นระบบงานนายทะเบียน และส่วนที่เป็นระบบงานรับฝากตราสารหนี้”

ส่วนแรกที่เป็นระบบงานนายทะเบียนหรือ Bond Registrar service Platform จะมี 5 ฟังก์ชันคือ 1. Smart bond เป็นการนำเอาข้อมูลสำคัญของตราสารหนี้(Fact sheet) เช่น อัตราดอกเบี้ย งวดการจ่ายดอกเบี้ย และสาระสำคัญของข้อกำหนดสิทธิ มาจัดทำเป็นสัญญาอัจฉริยะและจัดเก็บในระบบบล็อกเชน โดยสัญญาอัจฉริยะแต่ละตราสารหนี้จะดำเนินการด้วยตัวเองอัตโนมัติ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้เช่น ถึงกำหนดชำระดอกเบี้ย เงินต้น ปิดสมุดทะเบียนหรือ ติดตามและแจ้งเตือนผู้เกี่ยวข้องอัตโนมัติ

2. Bond book entry serviceคือระบบสร้างข้อมูล ระบบจองซื้อ ระบบช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจองซื้อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ระบบส่งข้อมูลจองซื้อไปยังนายทะเบียน 3.Bond Issuer Portal คือ ผู้ออกตราสารหนี้สามารถเรียกดูรายชื่อผู้ถือครองตราสารหนี้ได้แบบ Realtime และเรียกดูรายงานสรุปในมุมมองต่างๆได้ตามต้องการ 4. Bond Investor Portal คือนักลงทุน ผู้ใช้ สามารถตรวจสอบข้อมูลหุ้นกู้ รายละเอียดหุ้นกู้ที่ฝากไว้ ข้อมูลนายทะเบียนของหุ้นกู้ที่ตนเองถือครองได้แบบ realtime เช่น ข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละงวด และ 4.Bond Depository เป็นระบบจัดเก็บฐานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัยสูง

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,405 วันที่ 30 ก.ย.-3 ต.ค.2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว