ปตท.สผ.เบรกลงทุนแหล่งก๊าซอ่าวไทย

23 ก.พ. 2559 | 12:00 น.
ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ชะลอการลงทุนแล้ว เหตุราคาก๊าซฯต่ำ ความไม่ชัดเจนในสัมปทานที่จะหมดอายุ ปตท.สผ.หยุดการสั่งออร์เดอร์ผลิตแท่น 5-7 แท่น มูลค่า 3-4 พันล้านบาท ทั้งที่ประมูลงานไปเมื่อช่วงปลายปีแล้ว อ้างไม่สามารถขอขึ้นราคาก๊าซ กับปตท.ได้ ยันกระทบปริมาณก๊าซในแหล่งบงกชและอาทิตย์ลดลง 20-30 % ต้นปี 2561 ขณะที่เชฟรอน ลดค่าใช้จ่ายปีนี้ลงแล้ว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถอนเรือขุดเจาะกลางปีนี้ 2-3 ลำ พร้อมวางแผนปลดคนงาน ตามอินโดนีเซีย

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชพ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" จากภาวะที่ราคาน้ำมันตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยตกอยู่ในภาวะลำบาก เนื่องจากการลงทุนไม่คุ้มกับราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงมาก ส่งผลให้ต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ที่จะชะลอการลงทุนเพิ่มหรือไม่มีการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มเติม เพียงแต่ลงทุนเฉพาะการผลิตให้ได้ตามสัญญาที่กำหนดไว้เท่านั้น

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากผู้ผลิต 2 ราย เช่น เชฟรอน ที่ขณะนี้มีแผนปลดเรือขุดเจาะหลุมผลิต 2-3 ลำ ภายในกลางปีนี้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าทางเชฟรอนจะไม่มีการลงทุนเพิ่มจากที่เป็นอยู่ ขณะที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ.มีการประกาศอย่างชัดเจนที่จะชะลอการลงทุนออกไป ด้วยสาเหตุ 2 ประกาศ ได้แก่ ความไม่ชัดเจนในการต่ออายุแหล่งก๊าซบงกชที่จะหมดอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ประกอบกับแหล่งก๊าซอาทิตย์ สัญญาซื้อขายกำลังจะสิ้นสุดในเร็วๆ นี้ และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาราคาซื้อขายใหม่กับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) โดยการขอปรับราคาเพิ่มขึ้นยังไม่ได้ข้อยุติ จึงทำให้ต้องชะลอการลงทุนก่อสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียมใน 2 แหล่งนี้ออกไปก่อน

จากผลกระทบดังกล่าว ส่งผลให้ขณะนี้บรรดาผู้ผลิตแท่นขุดเจาะในประเทศที่มีอยู่ 3 ราย กำลังประสบปัญหาในการรับงานลดน้อยลง และกำลังจะทยอยปลดพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งประเมินว่าหากราคาน้ำมันดิบดูไบยังไม่สามารถกลับมาเฉลี่ยสูงกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงกลางปีนี้ได้ (ปัจจุบันอยู่ที่ 30.6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล) จะทำให้มีการปลดพนักงานในกลุ่มผู้ผลิตแท่นเป็นจำนวนมาก

 เชฟรอนลดรายจ่าย 1.8 หมื่นล.

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า ภาวะที่ราคาน้ำมันตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลให้บริษัท เชฟรอนฯ ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศ มีแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายในปีนี้ลงประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 1.8 หมื่นล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยน 36บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยจะไม่มีการลงทุนด้านสำรวจขุดเจาะเพิ่มเติม เพียงแต่จะรักษากำลังการผลิตก๊าซระดับ 1.6 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้ได้ตามสัญญาไว้เท่านั้น และใช้ประโยชน์จากแท่นผลิตเดิมให้ได้มากที่สุด และปรับปรุงประสิทธิภาพของหลุมก๊าซ เพื่อให้ได้ปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นเพียงแผนระยะสั้นเท่านั้น โดยจะไปลดการลงทุนจ้างก่อสร้างแท่นผลิตลงเหลือ 4 แท่น จากปกติที่จะใช้ปีละ 5-6 แท่น

นอกจากนี้ มีแผนที่จะปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับลง โดยการปรับลดพนักงานในไทยให้เหมาะสม เหมือนที่ประเทศอินโดนีเซียได้ปรับลดพนักงานไปแล้วประมาณ 20%

 ปตท.สผ.ไม่ลงทุนผลิตก๊าซเพิ่ม

ส่วนปตท.สผ.ได้มีการชะลอการลงทุนเพื่อรักษากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาในแหล่งบงกชเหนือและอาทิตย์ออกไปแล้ว เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายให้กับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในปัจจุบันไม่คุ้มที่จะลงทุนผลิตก๊าซ ตามสัญญาในอนาคตอันใกล้นี้ได้

เห็นได้จาก ปตท.สผ.เปิดประมูลงานก่อสร้างแท่นหลุมผลิตจำนวน 25 แท่น ระยะเวลา 5 ปีในโครงการ "บันเดิล 2" (Bundle 2) ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิต จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มูลค่าราว 2.25 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซให้ได้ตามสัญญาที่กำหนดส่งขายให้กับปตท.ซึ่งได้คัดเลือกผู้รับเหมาเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา และปกติหลังจากได้ผู้รับเหมาแล้ว จะต้องมีการส่งมอบงานหรือออร์เดอร์ผลิตแท่นให้กับผู้รับเหมาทันที แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ทางปตท.สผ.ก็ยังไม่มีการส่งมอบงานหรือจัดจ้างผลิตแท่นให้กับผู้รับเหมาแต่อย่างไร

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติในขณะนี้ที่ใช้อ้างอิงกับราคาน้ำมันย้อนหลังไป 6-12 เดือนที่ผ่านมา มีราคาต่ำโดยทาง ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอปรับราคาก๊าซขึ้นไปในสัญญาของแหล่งอาทิตย์ที่กำลังจะหมดในเร็วๆ นี้ เพื่อให้คุ้มกับการที่จะใส่เงินลงทุน แต่ก็ได้รับการถูกปฏิเสธจากปตท. แม้จะเป็นบริษัทแม่ก็ตาม ผลที่ตามมาจึงทำให้ปตท.สผ.ต้องชะลอการลงทุนในการพัฒนาแหล่งก๊าซบงกชเหนือและอาทิตย์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

"การเจรจาขอปรับราคาก๊าซในแหล่งบงกชเหนือและอาทิตย์ ของปตท.สผ.กับ ปตท.ในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งเข้าใจว่าทาง ปตท.มีทางเลือกที่จะไม่ปรับราคาให้ และหันไปนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่ราคามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องแทน ซึ่งเวลานี้แอลเอ็นจีบางแหล่งมีราคาเพียง 4 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียูเท่านั้น ส่วนก๊าซในอ่าวไทยจะเฉลี่ยที่ประมาณ 6-9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการตัดสินใจชะลอการลงทุนของปตท.สผ.ดังกล่าวหากไม่มีการสั่งผลิตแท่นขุดเจาะได้ภายในปีนี้ จะทำให้แหล่งบงกชเหนือ ซึ่งผลิตก๊าซอยู่ราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งก๊าซอาทิตย์ ผลิตอยู่ประมาณ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้รับผลกระทบ และเมื่อถึงต้นปี 2561 จะทำให้กำลังการผลิตก๊าซทั้ง 2 แหล่งนี้ลดลงประมาณ 20-30 %ของกำลังการผลิต และทำให้ ปตท.สผ.ไม่สามารถส่งให้ ปตท.ได้ตามสัญญาที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องถูกเสียค่าปรับ เนื่องจากการก่อสร้างแท่นผลิตจะใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี ถึงจะเริ่มผลิตก๊าซได้ และทั้ง 2 แหล่งนี้ จะต้องใช้แท่นผลิตราว 5-7 แท่น คิดเป็นมูลค่างานที่จัดจ้างผลิตแท่นประมาณ 3- 4 พันล้านบาท

 ผู้ผลิตแท่นกระทบปลดคนงาน

ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าว ไม่เพียงแต่ส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซในประเทศต้องหายไปแล้ว และต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในปริมาณที่มากขึ้นแล้ว ในส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา จะเกิดกับการที่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างแท่นผลิตที่จะต้องปลดพนักงานไปด้วย

โดยได้รับการยืนยันจากบริษัทไทยนิปปอนสตีลแอนด์ซูมิคิน เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ทีเอ็นเอส เป็นการร่วมทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่นและกลุ่ม บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน)หรือไอทีดี ถือหุ้นฝ่ายละ 49% และ 51% ตามลำดับว่า หากทาง ปตท.สผ.ไม่สามารถส่งออร์เดอร์มาให้บริษัททำการผลิตแท่นผลิต 5-7 แท่นในปีนี้ได้ บริษัทก็มีแผนที่จะต้องทยอยปลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับที่ผ่านมาทีเอ็นเอสได้มีการทยอยปลดพนักงานไปแล้วประมาณ 3 พันคน นับจากปี 2557 เป็นต้นมา เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้การสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมชะลอตัวลง และไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะลงทุนเพียงแค่รักษาระดับการผลิตให้ได้ตามสัญญาเท่านั้น ทำให้กระทบมายังผู้ผลิตแท่นไม่มีงานเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของทีเอ็นเอสในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ทำการก่อสร้างแท่นประมาณ 2-3 แท่นเท่านั้น จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นก็จะไม่มีงานเข้ามา ซึ่งจะทำให้พนักงานที่มีอยู่ประมาณ 1.5 พันคนต้องว่างงาน ซึ่งหากภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทางปตท.สผ.ยังไม่แจ้งสั่งออร์เดอร์การผลิตแท่น จะมีการทยอยปลดพนักงานซัพคอนแทกต์ประมาณ 300-500 คน ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และหลังจากนี้ไปไม่มีข้อสรุปจากปตท.สผ.เข้ามาอีก ก็จะมีการทยอยปลดพนักงานประจำที่มีอยู่ต่อไป

 ปตท.ยังไม่ปรับราคาใหม่

ด้านนางบุบผา อมรเกียรติขจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สัญญาซื้อขายคอนเดนเสตในแหล่งอาทิตย์หมดตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา โดยทาง ปตท. ต่อสัญญาซื้อขายชั่วคราว 6 เดือน ซึ่งยังเป็นราคารับซื้อเดิมไม่ได้มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากคุณภาพน้ำมันยังคงเดิม รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน อย่างไรก็ตามภายหลังจากหมดสัญญาชั่วคราวดังกล่าว ทาง ปตท.จะมีการพิจารณาราคาซื้อขายคอนเดนเสตอีกครั้ง ส่วนจะปรับขึ้นราคารับซื้อหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย

โดยปัจจุบันแหล่งอาทิตย์ผลิตก๊าซธรรมชาติ 282 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสต 1 หมื่นบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งในส่วนของสัญญาซื้อขายก๊าซกับทาง ปตท. ในสัญญาราคาปัจจุบันคาดว่าจะหมดในช่วงปลายปีนี้ ส่วนสัญญาซื้อขายคอนเดนเสตและก๊าซในแหล่งบงกชเหนือจะหมดปี 2565 ซึ่งในส่วนของสัญญาแหล่งอาทิตย์นั้น คงต้องมีการหารือให้ได้ข้อสรุปต่อไป

"การพิจารณาราคารับซื้อคอนเดนเสต แม้ว่าจะเป็นบริษัทลูก ก็ต้องมีมาตรฐานรับซื้อเหมือนกับเอกชนรายอื่น สาเหตุที่ไม่ปรับราคารับซื้อคอนเดนเสตในแหล่งอาทิตย์ เนื่องจากต้องพิจารณาคุณภาพคอนเดนเสตที่โรงกลั่นรับได้ และต้องดูสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้ผลิตและผู้ใช้" นางบุบผา กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559