โมเดิร์นพร็อพเพอร์ตี้ผนึกพันธมิตร รุกตลาดอสังหาผู้สูงวัย

27 ก.ย. 2561 | 11:14 น.
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดิร์นพร็อพเพอร์ตี้คอนซัลแตนส์ จำกัด (Modern Property Consultants) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตามที่ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยทั่วโลก ณ ปี 2558 มีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ถึง 12.3 % ของประชากรทั้งหมด 7,540 ล้านคน สำหรับประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับแรก (Aging Society)ตั้งแต่ปี 2548 กล่าวคือมีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 10% และจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี 7%

คนแก่1 นอกจากนั้นองค์การสหประชาชาติคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับ 2 (Aged Society) ในปี 2564 กล่าวคือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มเป็น 20% และอายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 14% และจะเข้าสู่ระดับ 3 สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Super-aged Society) ในปี 2578 กล่าวคือ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มเป็น 20% โดยประเทศไทยมีความเร็วในการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว กล่าวคือ การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจาก 7% เป็น 14 % ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะใช้เวลาค่อนข้างยาวนานหลายสิบปี อาทิเช่น อังกฤษใช้เวลา 45 ปี และฝรั่งเศสใช้เวลา 115 ปี แต่ประเทศไทยใช้เวลาเพียง 21 ปีเท่านั้น (นับแต่ปี 2006-2027)

“ปัจจุบันประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางประเทศหนึ่งสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวพำนักอาศัยระยะยาว (Long stay) หรือเพื่อมาใช้ชีวิตในบั้นปลาย นิตยสาร International Living ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลกในปี 2018 ที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยในวัยเกษียณ อีกทั้งประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางทางด้านบริการทางการแพทย์ (Medical hub) บริการ Medical Tourism บริการด้าน Anti Aging บริการด้าน Wellness ที่ขึ้นชื่อได้รับความนิยมสูงจากทั่วโลก เนื่องจากมีการบริการที่ดี และอัตราค่าบริการที่ต่ำ และมีแหล่งท่องเที่ยวรองรับจำนวนมาก เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องรองรับผู้สูงวัยอีกทางหนึ่ง”

ล่าสุด การขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) ที่อนุญาตให้พำนักในไทยครั้งที่ 1 ไม่เกิน 5 ปี (จากเดิมปีต่อปี) ในลักษณะ Multiple Entry และสามารถต่ออายุได้ได้อีก 5 ปี โดยอนุญาตให้ 14 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา ปรากฎว่าไม่มีจีน

นอกจากนั้นข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ล่าสุด ณ ปี 2560 ประเทศที่มีการขอวีซ่าเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทยมากที่สุด 10 ลำดับแรก คือ (1) อังกฤษ (2) อเมริกา (3) เยอรมนี (4) ญี่ปุ่น (5) สวิตเซอร์แลนด์ (6) ออสเตรเลีย (7) นอร์เวย์ (8) ฝรั่งเศส (9) สวีเดน (10) เนเธอร์แลนด์

“คาดว่ากลุ่มชาวต่างชาติหลักข้างต้นจะให้ความสนใจต่อการอยู่อาศัยหลังเกษียณในประเทศไทยกันมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาปัจจัยด้านวีซ่าเป็นอุปสรรคสำคัญหากจะเปรียบเทียบกับมาเลเซียคู่แข่งสำคัญ อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญอื่นที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รองรับตลาดต่างชาติดังกล่าว เช่น ประกันชีวิต สวัสดิการที่ครอบคลุมถึงจากประเทศต้นทาง”

นายวสันต์กล่าวอีกว่าสำหรับตลาดคนไทย โอกาสมาถึงหรือยัง ปัจจุบันโครงการอสังหาริมทรัพย์รองรับผู้สูงวัยในบ้านเรา ขยายตัวไปกว่า 20,000-30,000 ล้านบาทแล้ว สถานการณ์การขายเป็นอย่างไร รอดหรือไม่รอด ปัจจุบันสำคัญต้องพิจารณาอย่างไรบ้าง พฤติกรรมคนไทย กับต่างชาติที่แตกต่างกัน ผลงานวิจัยด้านอุปสงค์และผลการสำรวจตลาดด้านอุปทานโครงการที่ประสบความสำเร็จ จะช่วยตอบคำถาม ทั้งด้านทำเลที่ตั้ง ในเมืองหรือนอกเมืองดี เมืองหลวงหรือเมืองท่องเที่ยวดี รูปแบบโครงการ รูปแบบบ้าน ฟังก์ชั่นการใช้สอย สิ่งอำนวยความสะดวกที่ควร รูปแบบกรรมสิทธิ์ในการขาย Freehold ดี หรือ Leasehold ดี เป็นต้น ส่วนการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ที่ยังต้องคำนึงถึงการปรับรูปแบบสินค้า เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยที่ยังอยู่อาศัยร่วมกันกับบุตร หลาน 2-3 generations ตามวิถีชีวิตของคนไทยนั้น ทำได้อย่างไรบ้าง โอกาสมีมากน้อยเพียงใด

“ปมปัญหาเหล่านี้ผู้สนใจสามารถหาคำตอบได้ในงานสัมมนา “ผลสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ผู้สูงวัยในประเทศไทย” ข้อมูลภาคสนามแบบเจาะลึกเป็นครั้งแรในวันที่ 29 กันยายน 2561 นี้ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (ภายในสนามราชมังคลากีฬาสถาน รามคำแหง)โดยในครั้งนี้จะมีกูรูในวงการมาให้ความรู้ความเข้าใจพร้อมพบกับข้อมูลผลสำรวจโครงการทั่วประเทศ ครบตั้งแต่วิธีการ study โครงการ การออกแบบโครงการ การทำตลาด การบริหารโครงการ พร้อมกับยกตัวอย่างโครงการ อาทิ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้, วิลลา มีสุข เรสซิเดนท์เซส และ สวางคนิเวศ ให้ได้เห็นภาพชัดเจน”