ผู้รับเหมาเห็นสัญญาณบวกไตรมาส 2 เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง / ปลุกเศรษฐกิจชุมชน

24 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
"สมคิด" ไล่บี้คมนาคมขีดกรอบแอกชันแพลนโครงการไหนพร้อมประมูลต้องให้แล้วเสร็จกลางปีหน้า รฟม.มีลุ้นรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ชมพู-เหลือง "พีระพล" เผยเซ็นสัญญามอเตอร์เวย์แล้ว 5 สัญญาส่วนที่เหลืออีก 8 สัญญารอสำนักงบฯไฟเขียว ชี้กลางปีนี้ชัดเจนแน่ ภาคเอกชนเริ่มฉายภาพชัดขึ้น ค่ายวัสดุซีซีพีคอนกรีตชลบุรีรับอานิสงส์ เผยงานล้นมือแล้ว สมาคมอุตฯไทยยันเห็นผลเชิงบวกตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าตามที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะการประมูลโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆที่ผ่านการอนุมัติให้ดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)และโครงการที่อยู่ระหว่างการเร่งรัดนำเสนอนั้น

ล่าสุดได้เร่งรัดตามคำสั่งของรองนายกฯสมคิด ที่เห็นได้ชัดคือท่าเรือ รถไฟและมอเตอร์เวย์ ส่วนรถไฟฟ้ายังรอกระบวนการจากหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางคือ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ได้เริ่มพิธีการก่อสร้างไปแล้ว อีกทั้งยังจ่อคิวเซ็นสัญญาต่อเนื่องอีก 2-3 เส้นทาง สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นเห็นว่าควรจะประมูลให้สอดคล้องเป็นเส้นทางเดียวกันทั้ง 2 โซนโดยโซนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีอยู่ระหว่างการส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)และคณะกรรมการพีพีพีพิจารณา ส่วนโซนตะวันตกก็ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับสายอื่นๆก็มีความคืบหน้าอย่างมากเร่งนำเสนอครม.ต่อไป"

ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)กล่าวว่า ตามที่รองนายกรัฐมนตรี(ดร.สมคิด)ต้องการให้เซ็นสัญญาได้หมดภายในกลางปีหน้า ล่าสุดพบว่าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทางโดยเส้นทางพัทยา-มาบตาพุดที่จะใช้เงินกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของมอเตอร์เวย์สาย 7 และสาย 9 ไปดำเนินการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาได้แล้ว 5 ราย 5 สัญญา ส่วนที่เหลืออีก 8 สัญญารอให้สำนักงบประมาณรับรองราคาตามที่ทล.เจรจาต่อรองเท่านั้น ก็จะสามารถทยอยเซ็นสัญญาต่อเนื่องจนครบทั้งหมด

"กลางปีนี้ชัดเจนแน่โดยเฉพาะอีก 2 เส้นทางที่เหลือคือบางใหญ่-กาญจนบุรีและบางปะอิน-นครราชสีมาที่อยู่ระหว่างขอปรับปรุงผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)บางช่วงบางตอนเท่านั้น แต่หากช่วงไหนมีความพร้อมก็จะเริ่มเซ็นสัญญาได้ทันที พร้อมกันนี้ยังจะจัดให้มีการเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนทั้ง 2 เส้นทางในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้อีกด้วย ดังนั้นปีนี้มั่นใจว่าโครงการที่จัดอยู่ในแอกชันแพลนและแผนร่วมลงทุนระยะเร่งด่วน(พีพีพีฟาสต์แทร็ก)จะมีความคืบหน้าอย่างมาก และคณะกรรมการพีพีพีอยู่ระหว่างการเร่งพิจารณา"

ด้านนายธีระพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี รฟม.ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอครม.หลังจากได้รับอนุมัติแล้วก็จะจัดแบ่งสัญญาให้เหมาะสม ขณะนี้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางเรียบร้อยแล้ว คาดว่าปลายปีจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น และจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ในส่วนสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)อยู่ระหว่างการเร่งพิจารณาตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพีพีพีในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ และเดือนมีนาคมจึงจะนำเสนอครม.ต่อไป พร้อมกับรฟม.ก็จะเร่งคัดเลือกเอกชนต่อเนื่องกันไป การก่อสร้างจะต้องมีการออกแบบก่อน และ คาดว่าจะก่อสร้างได้ช่วงกลางปีหน้า

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐได้เร่งผลักดันโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ออกมาแล้วนับ 10 โครงการ ส่วนหนึ่งนั้นยังเห็นว่ายังอยู่ในกระบวนการดำเนินการประมูล หาตัวผู้รับจ้างและเร่งเบิกจ่ายงวดแรก 15% เริ่มเซ็นสัญญาเพื่อเร่งกระจายงบประมาณ

"แม้ว่าจะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แต่ก็ยังมีกระบวนการขั้นตอนการประมูล การหาตัวผู้รับจ้าง การเซ็นสัญญาอีกหลายเดือน แต่เชื่อว่านับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปคงจะได้เห็นภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการจ้างงาน การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆชัดเจนยิ่งขึ้น และจะไปบูมอย่างมากในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า"

นายทินกร เล้าตระกูล กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่วิศวกรรม ผู้ได้รับสัญญาที่ 4 งานก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง-ช่วงพัทยา-มาบตาพุด กล่าวว่า หลังจากนี้จะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ทันที โดยวางแผนการก่อสร้างเอาไว้แล้ว ทั้งเครื่องมือและบุคลากรส่วนหนึ่งจะต้องจ้างแรงงานในพื้นที่และใช้บุคลากรของบริษัทในการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามแผน จะเริ่มใช้งบประมาณ 15% ที่ได้รับงวดแรกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

"คงจะเริ่มเห็นผลด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนขึ้นไปในการจ้างงานตั้งแต่ไตรมาสที่ 2ของปีนี้เป็นต้นไปโดยหลังจากนี้คงจะต้องลงทุนด้านเครื่องมือก่อสร้างเพิ่มขึ้นตลอดจนการจ้างงานฝ่ายต่างๆหากได้ปริมาณงานเข้ามาป้อนบริษัทมากขึ้น"

นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) (CCP) กล่าวว่า หลังจากที่กรมทางหลวง(ทล.)มีการเปิดประมูลงานโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ CCP ได้รับออร์เดอร์ผลิตภัณฑ์คอนกรีตมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ส่งผลทำให้มูลค่างานในมือ (Backlog)เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์นี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561

ทั้งนี้ CCP คาดว่าภาคการก่อสร้างจะสามารถขยายตัวได้หลังจากภาครัฐมีแผนกระตุ้นและขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ แม้ในช่วงนี้ยอดส่งสินค้าไม่มากนักแต่เชื่อว่าจะมีทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างภาคเอกชนมีโอกาสในการรับงานมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลับมาลงทุนในโครงการใหม่อีกครั้ง โดยทั้ง 2 ปัจจัยจะทำให้ภาคธุรกิจคอนกรีต วัสดุก่อสร้าง ได้รับผลดีตามไปด้วย "CCP มีความพร้อมด้านกำลังการผลิตที่เพียงพอเพื่อรองรับความต้องการคอนกรีตรูปแบบต่างๆซึ่งในปี 2559 ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาท โดยการเติบโตจะเป็นไปตามการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน

ปัจจุบัน CCP มี Backlog ประมาณ 2.4 พันล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ในการทยอยรับรู้รายได้ ซึ่งเฉพาะในปีนี้จะรับรู้รายได้ 60% ของBacklog ทั้งหมด โดยจะทยอยหางานเข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต เพื่อรักษาระดับมูลค่างานในมือ (Backlog) ไว้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559