ส่งออกยางปี 59 คาดทรงตัว ไทยฮั้ววาดเป้า 2.5 หมื่นล้าน

23 ก.พ. 2559 | 09:30 น.
ในวงการส่งออกยางพาราของไทย ไม่มีใครไม่รู้จัก บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) 1 ใน 3 ผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของประเทศ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์ทั้งขาขึ้น-ขาลงของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศมาอย่างโชกโชน ขณะที่เวลานี้วัฏจักรยางพาราอยู่ในช่วงขาลงอีกครั้งและส่อเค้าจะมีความยืดเยื้อ "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้สัมภาษณ์ "หลักชัย กิตติพล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา ถึงภาพรวมของบริษัทในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา และทิศทางแนวโน้มปี 2559 ตลอดจนได้สะท้อนมุมมองด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราไทยไว้อย่างน่าสนใจ

[caption id="attachment_32840" align="aligncenter" width="398"] หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา หลักชัย กิตติพล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา[/caption]

ยอดวูบทั้งปริมาณ-มูลค่า

"หลักชัย" เผยถึงภาพรวมผลประกอบการของไทยฮั้วฯ ในรอบปี 2558 ที่ผ่านมาว่า มียอดการส่งออกประมาณ 4.3 แสนตัน ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.5 แสนตัน ส่วนด้านมูลค่าส่งออกได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต้นๆ ลดลงจากปีก่อนประมาณ 20% เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้วัตถุดิบยางพารารายใหญ่ที่คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกของบริษัทถึง 55% ในปีที่ผ่านมามียอดนำเข้าที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว

"ธุรกิจยางพาราในประเทศของเครือไทยฮั้วฯ เรามีโรงงานอยู่ที่ระยอง 3 โรงงาน ที่สงขลา 4 โรง ที่ตรัง 1 โรง ที่กระบี่ 3 โรง พิษณุโลก 1 โรง อุดรธานี 2 โรง บึงกาฬ 1 โรง บุรีรัมย์ 1 โรง และที่สุราษฎร์ธานี 1 โรง ซึ่งมีทั้งโรงงานยางแท่ง น้ำยาง และยางแผ่นรมควัน กำลังการผลิตรวมกันประมาณ 7 แสนกว่าตัน รวมทั้งยางคอมปาวด์ (ยางธรรมชาติผสมสารเคมี) ด้วยกำลังการผลิตเต็มเพดานรวมกันก็ประมาณ 9 แสนกว่าตัน ซึ่งเรายังไม่ขยายตอนนี้ เพราะยังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ ปีที่แล้วยังผลิตและส่งออกได้แค่ 4 แสนกว่าตัน ยังไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นเราต้องใช้กำลังผลิตนี้ให้ได้เต็มที่ก่อน"

 ขยายฐานเพื่อนบ้านรับอนาคต

ขณะที่ธุรกิจยางพาราของไทยฮั้วฯ ในต่างประเทศ ปัจจุบันได้เข้าไปสัมปทานพื้นที่จากรัฐบาลสปป.ลาวใน 5 แขวง ประกอบด้วย แขวงเวียงจันทน์ บอลิคำไซ คำม่วน สะหวันนะเขต และสาละวัน พื้นที่รวม 8.5 หมื่นไร่ เวลานี้ได้ปลูกยางจริงและกรีดได้แล้วราว 5 หมื่นไร่ มีการตั้งโรงงานยางเครปรองรับ กำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อปีและในปีนี้จะตั้งโรงงานยางแท่งที่แขวงสะหวันนะเขต ใช้เงินลงทุนปริมาณ 200 ล้านบาท

ส่วนในกัมพูชาได้สัมปทานพื้นที่ในจังหวัดอุดรมีชัย 1 แสนไร่ เวลานี้ปลูกยางไปแล้วประมาณ 4 หมื่นไร่ อายุ 2-3 ปียังกรีดไม่ได้ แต่หากกรีดได้แล้วในปี 2560-2561 มีแผนจะตั้งโรงงานยางแท่งรองรับกำลังการผลิต 5 หมื่นตันต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท

 ปี 58ไทยส่งออกยาง 3.7 ล้านตัน

ส่วนภาพรวมผลผลิตยางธรรมชาติของไทยในปี 2558 จากข้อมูลของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ระบุไทยมีผลผลิตทั้งสิ้น 4.47 ล้านตัน แยกเป็นยางแผ่นรมควัน 8.44 แสนตัน ยางแท่ง STR 1.88 ล้านตัน น้ำยางข้น 9.64 แสนตัน ที่เหลือเป็นยางผสมและอื่นๆ ส่วนภาพรวมการส่งออกยางพาราของไทยในปี 2558 ส่งออกได้ที่ 3.74 ล้านตัน แยกเป็นยางแผ่นรมควัน 6.42 แสนตัน ยางแท่ง STR 20 1.76 ล้านตัน น้ำยางข้น 7.30 แสนตันที่เหลือเป็นยางผสมและอื่นๆ ในจำนวนนี้ตลาดส่งออก 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ปริมาณ 2.13 ล้านตัน มาเลเซีย 4.31 แสนตัน ยุโรป 2.46 แสนตัน ที่เหลือส่งไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และตลาดอื่นๆ

"การส่งออกยางพาราของไทยในแง่มูลค่าปีที่แล้วตกประมาณ 2 แสนล้านบาทต้นๆ โดยรูปเงินบาทลดลงจากปีก่อนประมาณ 10% และรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงประมาณ 20%"

 เป้าไทยฮั้วปีลิง 2.5 หมื่นล้าน

สำหรับในปี 2559 ทางเครือได้ตั้งเป้าหมายยอดขายปริมาณไว้ที่ 5 แสนตัน มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท บนเงื่อนไขปัจจัยราคายางต้องเพิ่ม และทางบริษัทสามารถเจาะ 4 ตลาดได้เพิ่ม ได้แก่ ยุโรป ตะวันออกกลาง รัสเซีย และอินเดีย จากที่ผ่านมาทางไทยฮั้วฯ ได้ส่งออกไปใน 76 ประเทศครอบคลุมทุกภูมิภาคของโลก

"แนวโน้มการส่งออกยางในปีนี้น่าจะทรงๆ โดยครึ่งแรกของปีนี้น่าจะยังไม่ค่อยดี เพราะเศรษฐกิจโลกยังซึมๆ การใช้ยางของประเทศต่างๆ ยังไม่ค่อยดี หุ้นก็ตกรวมถึงราคาน้ำมันขาลงจะทำให้ราคายางเทียมยังฉุดราคายางธรรมชาติ ซึ่งเวลานี้ถือว่า ราคายางธรรมชาติตกต่ำมาก เหลือแค่ 1 ใน 5 ของราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุด อย่างไรก็ดี คาดหวังการส่งออกยางในครึ่งหลังของปีนี้จะดีขึ้น จากความต้องการของตลาดจีนคงมีมากขึ้นและเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวชัดเจน"

ลุ้นลดส่งออกฉุดราคาขยับ

ขณะเดียวกันจากที่ 3 ประเทศประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จะมีความร่วมมือในการลดการส่งออกยางพารา 6.15 แสนตัน (มีนาคม-สิงหาคม 2559) โดยมีเวียดนามจะร่วมมือด้วย หากดำเนินการอย่างจริงจังและซัพพลายหายไปจริงจะช่วยดันราคายางในประเทศของทุกประเทศและในตลาดโลกให้ขยับขึ้นได้ แต่เนื่องจากเป็นของใหม่ทุกคนก็ยังรอดู ตลาดก็รอดูว่า จะทำจริงหรือไม่ แต่ถ้าทุกประเทศทำแบบจริงจังก็น่าจะเห็นผลหลังเดือนกรกฎาคม ส่วนยางที่ไม่ได้ส่งออกและเก็บไว้ ก็ต้องมีทางออก เช่น รัฐบาลบอกว่า จำนวนที่ไม่ได้ส่งออกตรงนี้จะเอาไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ คือ เอาไปทำถนน และอื่นๆ หรือรัฐบาลช่วยซื้อไป หรือเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่ที่ออกไปจากตลาดก็จะทำให้ราคาดีขึ้น แต่ถ้าเอาไปเก็บไว้เป็นสต็อกก็อาจจะมีแรงกดดัน เพราะว่าถึงวันหนึ่งก็ต้องขาย แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดตลาดปลายทางก็จะมีของน้อยลง จะได้ไม่กดราคา

"ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย อินโดฯ มาเลย์ และเวียดนามร่วมกับเอกชนจะหารือกันในรายละเอียด ที่ประเทศสิงคโปร์ว่าจะร่วมมือกันลดการส่งออกยางตามสัดส่วนอย่างไร และจะติดตามตรวจสอบว่ามีการลดการส่งออกจริงอย่างไร ซึ่งในส่วนสมาชิกของสมาคมเราพร้อมอยู่แล้ว"

 แบ่งรับ-แบ่งสู้ซื้อยางสต็อกเก่า

ส่วนกรณีที่รัฐบาลได้ยกเลิกสัญญาการซื้อขายยางกับไชน่าไห่หนานฯ จากจีน ส่งผลให้สต็อกยางของรัฐบาลกว่า 3 แสนยังคงอยู่ เรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคายางไม่ขยับหรือไม่นั้น "หลักชัย" ระบุว่า ไม่น่าเกี่ยวกัน เพราะขณะนี้ยางดังกล่าวได้กลายเป็น dead stock ไปแล้วไม่ได้นำมาใช้ ซึ่งไม่น่าเป็นปัญหา

"ถามว่ายางเก่าในสต็อกรัฐบาล 3 แสนตัน ผู้ส่งออกสนใจจะซื้อหรือไม่ เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลอยากขายเราก็ต้องไปดูว่าเอามาทำอะไรได้บ้าง เพราะเก็บไว้นานๆ คุณภาพก็ต่ำลง เป็นรา เป็นอะไร ต้องเอามาแปรรูปใหม่ เอามาผลิตเป็นยางแท่งได้อย่างเดียว ถ้าเป็นยางแผ่นรมควันคิดว่าคงไม่ได้ ที่สำคัญหากเราซื้อไปเราต้องขายได้ ถ้าซื้อแล้วไปขายไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่ทิศทางการลดความผันผวนของราคาในอนาคตมองว่า ต้องดึงโรงงานผลิตยางรถยนต์ ซึ่งเป็นผู้ใช้ยางมากที่สุดให้เข้ามาตั้งโรงงานในไทยให้มาก ซึ่งจะช่วยลดการส่งออกวัตถุดิบและสร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออกยางได้อีกมหาศาล"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559