สสว.ตั้งเป้าเอสเอ็มอีโต5.67ล้านล้าน พร้อมปล่อยกู้แก้ขาดสภาพคล่อง

24 ก.พ. 2559 | 13:00 น.
สสว.ประเมินจีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้ขยายตัว 5-5.5 % คิดเป็นมูลค่า 5.67 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน พร้อมทำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมเอสเอ็มอีใหม่ ดันสัดส่วนเพิ่มเป็น 45% ของจีดีพีรวมของประเทศภายในปี 2564 สร้างมูลค่า 7.4 ล้านล้านบาท ยันกองทุนพลิกฟื้น 1 พันล้านบาทพร้อมปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาแล้ว แต่มีเงื่อนไขต้องสมัครเข้าร่วมโครงการปรับปรุงแผนธุรกิจก่อน

[caption id="attachment_33008" align="aligncenter" width="429"] อัตราการขยายตัวจีดีพีเอสเอ็มอี อัตราการขยายตัวจีดีพีเอสเอ็มอี[/caption]

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องมาจากปีก่อน ที่ได้รับอานิสงส์จากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ประกอบกับธุรกิจการก่อสร้างที่จะฟื้นตัวจากโครงการ โครงสร้างพื้นฐาน ภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก และค้าส่ง ที่คาดว่า จะปรับตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ที่ขยายตัวตามการบริโภคภายในประเทศและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี

ทั้งนี้ จากการฟื้นตัวของธุรกิจดังกล่าว ทางสสว.ประเมินการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเมอี (จีดีพีเอสเอ็มอี) ในปีนี้ จะขยายตัวที่ระดับ 5-5.5% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.67 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 42% ของจีดีพีรวมประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่จีดีพีเอสเอ็มอีขยายตัวอยู่ที่ 5.3% คิดเป็นมูลค่า 5.56 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 41.1% ของจีดีพีรวมของประเทศ

โดยขณะนี้สสว. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมเอสเอ็มอีขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันสัดส่วนจีดีพีรวมของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 45 % ภายในปี 2564 ซึ่งจะทำให้มูลค่าทางการค้าของเอสเอ็มอีขยับขึ้นไปประมาณ 7.4 ล้านล้านบาท

ส่วนการดำเนินงานในปีนี้นั้นสสว. จะเร่งแก้เอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ผ่านโครงการปรับปรุงแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี โดยเน้นให้การช่วยเหลือธุรกิจการค้าและบริการ ที่สสว.ได้รับอนุมัติงบจำนวน 1 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีขึ้นมา และมีความพร้อมที่จะให้ผู้ประกอบการขอกู้ไปเสริมสภาพคล่องแล้ว

แต่ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า เอสเอ็มอีที่จะได้รับสิทธิ์จะต้องส่งงบการเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ และมียอดขายลดลงสะสม 20% ในช่วง 3 ปี และเป็นลูกหนี้ของธนาคารรัฐ และจะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการปรับปรุงแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี เพื่อที่สสว.และภาคีต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จะร่วมกันคัดเลือกเอสเอ็มอี ที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการวินิจฉัยกิจการ พร้อมมีแนวทางการปรับปรุงกิจการ เอสเอ็มอีรายใดผ่านการปรับแผนธุรกิจแล้ว หากมีปัญหาทางการเงิน ที่จะใช้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจะสามารถยื่นคำขอกู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 5-7 ปี โดยขั้นตอนการปรับปรุงแผนกิจการนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน

"เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ คาดว่า จะมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย จากจำนวนที่มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย ซึ่งขณะนี้ มีผู้ประกอบการประมาณ 4 พันราย แสดงความสนใจที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว ซึ่งอยากจะเชิญชวนให้เอสเอ็มอีที่มีปัญหาเข้าร่วมโครงการให้ได้ตามเป้าหมาย 1 หมื่นราย โดยยืนยันว่า กองทุนที่มีอยู่สามารถจัดสรรให้กู้อย่างเพียงพอได้"

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์ ถือเป็นเจ้าหนี้เดิมของเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ซึ่งได้ทำข้อตกลงกับทางสสว.ในการทำหน้าที่เก็บเงินชำระหนี้ส่งคืนให้กับสสว.จากการกู้เงินกองทุนพลิกฟื้นมาเสริมสภาพคล่อง โดยเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งเป้าลูกค้าไว้ประมาณ 1.7 พันราย

สำหรับกรณีที่เป็นห่วงว่า กองทุนดังกล่าว 1 พันล้านบาทไม่เพียงพอนั้น มองว่า โครงการนี้น่าจะเป็นการนำร่องหรือเป็นเพียงชั่วคราวก่อน ซึ่งหากสำเร็จ หรือมีเอสเอ็มอีมากู้ครบ 1 พันล้านบาทแล้ว ทางเอสเอ็มอีแบงก์ อาจจะนำโครงการนี้ไปดำเนินการเอง หรือเป็นโครงการถาวรในการพิจารณาปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา และคาดว่า จะขยายไปสู่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ดังนั้น ขอให้เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาแล้วเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีเงินกู้เพียงพอสำหรับการเสริมสภาพคล่องให้กิจการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559